xs
xsm
sm
md
lg

กองทุน FTA ปิดฉาก 15 ปี ช่วย 29 สินค้าและบริการ สู้เปิดเสรีการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการค้าต่างประเทศโชว์ผลสำเร็จกองทุน FTA ช่วยสู้เปิดเสรีการค้าตลอด 15 ปี จำนวน 29 สินค้าและบริการ รวม 62 โครงการ วงเงิน 425 ล้านบาท เผยโครงการเด่น โคเนื้อ โคนม สับปะรด ส้มสายน้ำผึ้ง ปลาป่น ยาแผนปัจจุบัน ระบุตั้งแต่ปี 64 ไม่ได้รับงบประมาณเพิ่ม ทำให้ช่วยเหลือไม่ได้ แต่ “พาณิชย์” แก้เกม ชงตั้งกองทุนแบบถาวร มั่นใจจะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าได้ดีขึ้น

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการดำเนินโครงการกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือกองทุน FTA ในโอกาสที่ดำเนินโครงการมาเป็นเวลา 15 ปี (2550-2565) ว่า การดำเนินโครงการของกองทุน FTA ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ได้ให้ความช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 29 รายการสินค้าและบริการ จำนวนรวม 62 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 425 ล้านบาท ประกอบด้วยภาคเกษตร 13 รายการสินค้า จำนวน 32 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 231 ล้านบาท ได้แก่ โคนม โคเนื้อ ส้ม หอมแดง กระเทียม หอมหัวใหญ่ ข้าว ลิ้นจี่ สับปะรด ปลาน้ำจืด ชา น้ำผึ้ง ไม้ตัดดอก มะพร้าว และกาแฟอะราบิกา ภาคอุตสาหกรรม 10 รายการสินค้า จำนวน 21 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 142 ล้านบาท ได้แก่ สิ่งทอ ยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ ปลาป่น เครื่องสำอางสมุนไพร เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องหนัง พลาสติก และอิฐมอญ และภาคบริการ 6 ประเภทบริการ จำนวน 9 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 52 ล้านบาท ได้แก่ โลจิสติกส์ อาหาร ท่องเที่ยว ก่อสร้าง วิศวกรรม และโรงแรม

โดยการช่วยเหลือสินค้าภาคการเกษตรมีโครงการที่ประสบผลสำเร็จ เช่น การพัฒนาศักยภาพการผลิตโคเนื้อ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่สหกรณ์ 5 แห่ง รวมถึงสมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย โดยได้ดำเนินการสนับสนุนสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลางโพนยางคำ ให้มีการออกแบบโรงฆ่าสัตว์ใหม่ให้ได้มาตรฐาน GMP และฮาลาล เพื่อยกระดับและผลักดันการส่งออกสู่อาเซียน มีระบบตรวจสอบย้อนกลับในสินค้าทุกชิ้น ซึ่งขณะนี้สหกรณ์ฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลระดับประเทศแล้ว และอยู่ระหว่างรอผลการตรวจมาตรฐาน GMP โดยมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิม 520 ตัว เป็น 640 ตัวต่อเดือน ยอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 30% และได้สินค้าคุณภาพดีที่สามารถจำหน่ายในตลาดพรีเมียมและตลาดออนไลน์ได้ เช่น Villa Market และ Tops Supermarket เป็นต้น และยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย เช่น เนื้อชาบูสไลซ์แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์สแน็ก เนื้ออบกรอบ รวมถึงสินค้าเครื่องหนัง เป็นต้น

สำหรับโคนม ได้มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ด้านการตลาดนมโคสดแท้ 100% ของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2554 มีการพัฒนาระบบเพื่อขอเครื่องหมายรับรอง “โบทอง” สำหรับนมโคสดแท้ 100% และการจัดตั้งธุรกิจแฟรนไชส์ผลิตภัณฑ์นมแปรรูป สไมล์มิลค์ (Smile Milk) และไอศกรีม Soft serve รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 21 สูตรที่ปัจจุบันได้รับการรับรองมาตรฐาน อย.แล้ว ส่งผลให้เกษตรกรสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์โคนมที่มีความหลากหลายมากขึ้นได้

สินค้าสับปะรด ได้ช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตสับปะรดนางแล จ.เชียงราย ให้ใช้แนวคิดการตลาดนำการผลิต สามารถเจรจากำหนดราคาจำหน่ายและขยายตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่ญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ทำการผลิตและการตลาดโดยใช้โลโก้ “Nang Lae Pine” มีการพัฒนาเทคนิคและวิธีการจัดการไร่สับปะรดในระบบเกษตรกรที่ดีและเหมาะสมทั้งของไทย (GAP) และญี่ปุ่น (JAS) รวมถึง Global GAP จนสามารถวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกตในญี่ปุ่นได้

สินค้าส้มสายน้ำผึ้ง จ.เชียงใหม่ ได้ให้ความช่วยเหลือในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตส้มคุณภาพแม่อายและกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมส้มในเขตภาคเหนือตอนบน (คลัสเตอร์ส้ม) มีการดำเนินการต่างๆ เช่น สร้างภาพลักษณ์ตราสินค้าส้มคุณภาพแม่อาย ใช้ QR Code ในการตรวจสอบย้อนกลับและรับรองคุณภาพการผลิตผ่านการรับรองระบบการผลิตตามมาตรฐาน GAP มีการพัฒนาวิธีการทดสอบโรคโดยใช้ชุด Test kit มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและเชื่อมโยงเครือข่ายจนสามารถนำสินค้าเข้าจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด เช่น Tops Supermarket ได้

ส่วนสินค้าภาคอุตสาหกรรม มีสินค้าที่ได้เข้าไปช่วยเหลือ เช่น สินค้าปลาป่นที่มีสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทยเข้าร่วมโครงการ มีการเพิ่มขีดความสามารถโดยการจัดทำระบบประกันคุณภาพให้กับโรงงานปลาป่นเพื่อความปลอดภัยของอาหารสัตว์ มีการฝึกอบรมระบบ GMP และ HACCP ให้โรงงานจนสามารถผ่านการรับรองทั้งสองมาตรฐานได้

สินค้ายาแผนปัจจุบัน ได้ให้ความช่วยเหลือแก่สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน โดยมีการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อรองรับผลกระทบจากบันทึกความตกลงร่วมกัน (Mutual Recognition Agreement : MRA) ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน โดยจัดทำหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยาแผนปัจจุบันตามเกณฑ์ GMP ของ Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme (PIC/S) ให้ผู้ประกอบการ

นายพิทักษ์กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา กรมฯ ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการกองทุนฯ แต่มีเกษตรกรยื่นสมัครขอรับความช่วยเหลือจากกองทุน FTA เป็นจำนวนมาก และทุกวันนี้ยังคงได้รับการสอบถามถึงโครงการกองทุนฯ จากกลุ่มเกษตรกรและผู้สนใจอยู่ตลอด แต่แม้จะไม่มีกองทุน FTA ของกรมฯ แล้ว กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งเป็นกองทุนถาวรที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือได้ในรูปแบบตัวเงินและองค์ความรู้ ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. ... ที่จะเข้ามาแทนกองทุน FTA เดิม

ปัจจุบันไทยได้ทำความตกลงการค้าเสรี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับการเยียวยาเพื่อให้สามารถปรับตัวและอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมากองทุน FTA เป็นเครื่องมือที่กรมการค้าต่างประเทศใช้ในการเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้ามาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้มีโอกาสพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการสร้างสินค้าและบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และสามารถขยายไปยังตลาดส่งออก โดยการช่วยเหลือของโครงการของกองทุน FTA จะไม่ใช่การช่วยเหลือในรูปแบบของตัวเงิน คือ ไม่ใช้การให้เงินทุน หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แต่เป็นการให้องค์ความรู้ สร้างทักษะและความสามารถในการแข่งขันให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ มุ่งเน้นการวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ มาตรฐานการผลิตสินค้า สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพัฒนาการผลิตสินค้ารวมไปถึงการตลาดให้ได้ประโยชน์สูงสุดและสามารถแข่งขันได้ แต่กองทุน FTA ที่จะออกมาใหม่ จะมีความคล่องตัวในการช่วยเหลือมากกว่าเดิม ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าได้ดียิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น