xs
xsm
sm
md
lg

“กรมเจ้าท่า" ลุยยกระดับมาตรฐานตรวจสอบกิจการขนส่งทางน้ำ "ปลอดภัย-ไร้มลพิษ" พร้อมรับ IMO ตรวจประเมิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กรมเจ้าท่า” ลุยแผนปฏิบัติการตามพันธสัญญาองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ เพิ่มศักยภาพระบบโลจิสติกส์ ยกระดับมาตรฐานกองเรือ ท่าเรือ คนเรือ พร้อมระบบตรวจสอบ เน้นความปลอดภัย ไร้การก่อมลพิษ เตรียมพร้อมรับการประเมินของ IMO

นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านวิชาการ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้ดำเนินงานเพื่อยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลการบริหารจัดการท่าเรือและพาณิชยนาวีของไทย ภายใต้อนุสัญญาขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ หรือ IMO (International Maritime Organization) มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ยอมรับของประเทศสมาชิกของ IMO ทำให้ไทยได้รับการคัดเลือกเป็นคณะมนตรี IMO และปฏิบัติตามพันธสัญญาของประเทศสมาชิกที่ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลมาตรฐานการเดินเรือ ท่าเรืออย่างเข้มข้น ทั้งในการแก้ไขกฎหมายและปรับปรุงระเบียบให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง การพัฒนากิจการการเดินเรือทั้งระบบและอำนวยความสะดวกในการออกใบอนุญาตการเดินเรือและกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อส่งเสริมพัฒนากองเรือซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ

“แนวทางการพัฒนากองเรือภายใต้อนุสัญญาของ IMO ในปี 2565 กรมเจ้าท่าได้วางแผนการพัฒนาการกำกับดูแล กิจการกองเรือ และท่าเรือที่นำเอามาตรฐานอนุสัญญาฯ มาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบโลจิสติกส์ทางน้ำ ที่ให้ความสำคัญในการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลก โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคการเดินเรือมากขึ้น สอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการวางเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมให้เกิดเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายสมชายกล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังเดินหน้าตามอนุสัญญาด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางทะเลในการเป็นภาคี จำนวน 6 ฉบับ ประกอบด้วย 1. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ค.ศ. 1974 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention for Safety of Life Sea 1974as amended; SOLAS 1974)

2. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรมการออกประกาศนียบัตรและการเข้ายามของคนประจำเรือ ค.ศ. 1978 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ค.ศ. 1995 (International Convention on Standard of Training, Certification and Watchkeeping for Seafarers 1978 as amended 1995; STCW 78/95)

3. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ. 1973 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพิธีสาร ค.ศ. 1978 (International Convention for the Prevention of Pollution from Ships 1973 as modified by the Protocol of 1978; MARPOL 73/78) เฉพาะภาคผนวกที่ 1 และ 2

4. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยแนวน้ำบรรทุก ค.ศ. 1966 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention on Load Line 1966, as amended; LOADLINE 1966)

5. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการวัดขนาดตันของเรือ ค.ศ. 1969 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Convention on Tonnage Measurement of Ships 1969 as amended; TONNAGE 1969)

6. อนุสัญญาว่าด้วยกฎข้อบังคับระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันเรือโดนกัน ค.ศ. 1972 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (International Regulations for Preventing Collision at Sea 1972 as amended; COLREG 1972)

ซึ่งกรมเจ้าท่าได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจในการรับการตรวจประเมินของ IMO ซึ่งจะมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่จะทำการสาธิต การจำลองสถานการณ์ เพื่อความพร้อมของไทยในการเข้าสู่มาตรฐานระดับสากลเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก เนื่องจากการขนส่งทางเรือเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ กฎเกณฑ์ และข้อกำหนดของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ดังนั้นต้องมีการปรับปรุงและกำหนดมาตรฐานในด้านต่างๆ ตามที่ IMO ตั้งข้อสังเกตไว้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและกฎกระทรวง รวมถึงระบบการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคนเรือ ท่าเรือ ให้มีองค์ความรู้และสามารถดำเนินตามกฎระเบียบที่ได้กำหนดไว้ ทั้งในเรื่องความปลอดภัย การป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีลงแหล่งน้ำ และทะเล เป็นต้น







นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านวิชาการ




กำลังโหลดความคิดเห็น