xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” สั่ง กทท.เร่งศึกษาแตกไลน์ธุรกิจต่อเนื่องหลังท่า วางโมเดลลงทุนโลจิสติกส์ครบวงจร หนุน "อีอีซีและแลนด์บริดจ์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทท.ครบรอบ 71 ปี “ศักดิ์สยาม” สั่งเร่งศึกษาแตกไลน์ธุรกิจต่อเนื่องหลังท่า "โลจิสติกส์ซัปพลายเชน" ครบวงจร ต่อยอด "อีอีซีและแลนด์บริดจ์" ชูจุดเด่นลดระยะเวลาและต้นทุน ตั้งเป้าดึงดูดสายเรือไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นลำ/ปี ดันไทยฮับโลจิสติกส์ของภูมิภาค

วันที่ 19 พ.ค. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนาการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ครบรอบ 71 ปี พร้อมมอบใบรับรองระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ตามมาตรฐานสากล ISO 22301 : 2019 ให้กับท่าเรือกรุงเทพ และหน่วยงานสนับสนุน ว่า กทท.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2494 เพื่อดำเนินกิจการท่าเรือของประเทศไทย โดยมีท่าเรือที่อยู่ในความดูแล ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเชียงแสน ท่าเรือเชียงของ และท่าเรือระนอง ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา กทท.ได้พัฒนาธุรกิจให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งดำเนินโครงการและกิจกรรมสาธารณประโยชน์แก่สังคมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กทท.ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศให้สะดุดหยุดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผู้บริหารและพนักงาน กทท.ได้ร่วมกันปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่น ทำให้ผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าวมาได้ และผลประกอบการมีกำไรที่ดี และติด 10 อันดับแรกของรัฐวิสาหกิจที่นำเงินรายได้เข้ารัฐสูงสุด จึงเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจการค้าของประเทศ

ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้ กทท.เร่งรัดศึกษาและพัฒนาระบบ Port Automation และใช้ระบบ AI เพื่อให้ท่าเรือของไทยมีระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านการบริหารจัดการ นอกจากนี้จะต้องเตรียมรองรับโครงการพัฒนาเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) ที่จะแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่ง กทท.มีภารกิจในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ในส่วนของท่าเรือ F) จะต้องเตรียมพร้อมทั้งการศึกษาแผนงานเพื่อเตรียมพร้อมด้านบุคลากร เทคโนโลยี เครื่องมือต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัวในการรองรับการพัฒนาและปริมาณสินค้าที่จะเพิ่มขึ้น จาก 9 ล้าน TEU เป็น 18 ล้าน TEU

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ (Land bridge) ชุมพร-ระนอง ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลในการเชื่อมโยงโลจิสติกส์การขนส่งระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน ซึ่งจะเปิดในปี 2572 โดย กทท.จะต้องศึกษารูปแบบการทำธุรกิจที่ต่อยอดจากแลนด์บริดจ์ พัฒนาธุรกิจต่อเนื่องหลังท่าให้ครบวงจร ซึ่งรูปแบบการลงทุนเป็นไปได้ทั้งการร่วมลงทุนเอง หรือสนับสนุนภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ เพราะทั้งท่าเรือและกิจกรรมซัปพลายเชนหลังท่าจะมีส่วนสำคัญทำให้ท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการแลนด์บริดจ์เป็นประตูหรือเกตเวย์ที่เปิดกว้างในการขนส่งทางน้ำมากขึ้น โดยมีที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของอาเซียน จึงได้เปรียบในการลดระยะเวลาเดินทางจากฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย โดยไม่ผ่านช่องแคบมะละกาไม่น้อยกว่า 4-5 วัน ซึ่งจะลดต้นทุนและเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ทั้ง 4 มิติ อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำของภูมิภาคอาเซียนต่อไป
 
ปัจจุบันปริมาณเรือที่ผ่านช่องแคบมะละกามีประมาณ 80,000-90,000 ลำ/ปี และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 125,000 ลำในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้การจราจรทางน้ำติดขัดอย่างมาก ซึ่งการศึกษาโครงการ Land bridge ในเฟสแรก คาดว่าจะรองรับปริมาณเรือที่เคยผ่านมะละกาได้ประมาณ 10-20% หรือไม่ต่ำกว่า 20,000 ลำ/ปี ซึ่งการจะให้บริษัทเดินเรือขนาดใหญ่มาใช้ แลนด์บริดจ์ นอกจากท่าเรือ ระบบโลจิสติกส์ต่อเนื่องแล้ว จะต้องมีธุรกิจหลังท่าที่ครอบคลุม เช่น ธุรกิจที่ต่อเนื่องกับการเดินเรือ ทั้งการซ่อมบำรุง การบริการน้ำมัน หรือการส่งกำลังบำรุงต่างๆ ซึ่ง กทท.ต้องไปศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายหรือแตกไลน์ธุรกิจรองรับ รวมถึงรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม หลักการคือ ต้องทำให้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากแลนด์บริดจ์ ตกอยู่กับประเทศไทย และจะมีการประเมินว่าจะผลักดันแลนด์บริดจ์ในเฟสต่อไปอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ให้ กทท.ศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีมีการร่วมทุนหรือขยายธุรกิจเพิ่มเติม หากจำเป็น สามารถที่จะปรับปรุง พ.ร.บ.การท่าเรือฯ พ.ศ. 2494 เพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต
 
นอกจากการปรับปรุงประสิทธิภาพงานบริการของท่าเรือให้มีความทันสมัย เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการ ทำให้เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บริการทั้งในและต่างประเทศ สร้างความสามารถการแข่งขันให้แก่ประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล โดยเฉพาะการเร่งจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของกองเรือพาณิชย์ไทย การส่งเสริมนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากระบบถนนสู่ระบบราง การขนส่งทางลำน้ำและชายฝั่ง (Shift Mode) เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ โครงการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการของท่าเรือระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษ สายบางนา-อาจณรงค์ (S1) โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) การพัฒนาการเชื่อมโยง Data Logistic Chain ด้วยระบบ Port Community System
 
กทท.มีแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือ การพัฒนาธุรกิจและสินทรัพย์ การพัฒนาระบบบริหารจัดการทางการเงินให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน การพัฒนาสมรรถนะองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม การพัฒนาสมรรถนะองค์กรด้วยกระบวนงานทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาองค์กรอย่างมีส่วนร่วมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
 
ทั้งนี้ กทท.ได้มอบเงินสนับสนุนกิจกรรมสาธารณกุศล เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,200,000 บาท ให้แก่วัดสะพาน สมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย มัสยิดนูรุ้ลฮิตาย่าติ้ลอิสลาม (ท่าเรือคลองเตย) โรงเรียนปทุมคงคา ชมรมผู้สูงอายุ กทท. และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจพนักงาน กทท. และให้ความสำคัญต่อพนักงานที่ปฏิบัติงานดีและมีความตั้งมั่นในความพากเพียรทุ่มเทจนเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ ด้วยการมอบรางวัลพนักงานดีเด่น จำนวน 4 รางวัล รางวัลวิเชียรมณีฉาย จำนวน 3 รางวัล และมอบของที่ระลึกแก่พนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 15 ปี 25 ปี และ 35 ปี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น