รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนาการท่าเรือแห่งประเทศไทย ครบรอบ 71 ปี ชูนโยบาย Port Automation และ Land bridge เร่งพัฒนาการขนส่งทางน้ำ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค และท่าเรือชั้นนำระดับโลก
วันนี้ (19 พ.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนาการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ครบรอบ 71 ปี พร้อมมอบใบรับรองระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ตามมาตรฐานสากล ISO 22301 : 2019 ให้กับท่าเรือกรุงเทพ และ หน่วยงานสนับสนุนในวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ณ อาคารสโมสร กทท. โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม พลเรือเอก โสภณ วัฒนมงคล ประธานกรรมการ กทท. นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อํานวยการ กทท. คณะกรรมการ กทท. ผู้บริหาร และพนักงาน กทท. เข้าร่วมพิธี หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผู้ใช้บริการ ผู้นำชุมชน ผู้เช่าพื้นที่ และสื่อมวลชนร่วมแสดงความยินดี
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กทท. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2494 เพื่อดำเนินกิจการท่าเรือของประเทศไทย โดยมีท่าเรือที่อยู่ในความดูแล ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเชียงแสน ท่าเรือเชียงของ และท่าเรือระนอง ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา กทท. ได้พัฒนาธุรกิจให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งดำเนินโครงการและกิจกรรมสาธารณประโยชน์แก่สังคมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง กทท. ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศให้สะดุดหยุดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผู้บริหารและพนักงาน กทท. ได้ร่วมกันปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และสติปัญญา ทำให้ผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าวมาได้โดยตลอด และได้ก้าวมาเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจการค้าของประเทศ มีผลประกอบการที่ดีติด 10 อันดับแรกของรัฐวิสาหกิจที่นำเงินรายได้เข้ารัฐสูงสุด ได้รับการประเมินผลงานจากรัฐบาลให้เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดีติดต่อกันหลายปี และเป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บริการทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังพัฒนาธุรกิจท่าเรือให้สอดรับกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับองค์กร
ทั้งนี้ ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่าขององค์กร ทั้งรางวัลพนักงานดีเด่น รางวัลวิเชียรมณีฉาย และรางวัลสำหรับพนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 15 ปี 25 ปี และ 35 ปี ในทุกระดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรักของทุกท่านที่มีต่อองค์กร
กระทรวงคมนาคม โดย กทท. ได้พัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพงานบริการของท่าเรือที่อยู่ในความรับผิดชอบ ด้วยการนำระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่ เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งระบบรับรองมาตรฐานคุณภาพต่างๆ มาใช้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ ทำให้เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บริการทั้งในและต่างประเทศ ตามนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดย นายศักดิ์สยาม และ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศให้มีความเชื่อมโยง สะดวก ปลอดภัย สร้างความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล โดยเฉพาะการเร่งจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของกองเรือพาณิชย์ไทย การพัฒนาโครงการ Land bridge เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งระบบอื่นอย่างไร้รอยต่อ การส่งเสริมนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากระบบถนนสู่ระบบราง การขนส่งทางลำน้ำและชายฝั่ง (Shift Mode) เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ และการสนับสนุนการส่งออก-นำเข้า เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค
ในการนี้ กทท. ได้มอบเงินสนับสนุนกิจกรรมสาธารณกุศล เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,200,000 บาท ให้กับวัดสะพาน สมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย มัสยิดนูรุ้ลฮิตาย่าติ้ลอิสลาม (ท่าเรือคลองเตย) โรงเรียนปทุมคงคา ชมรมผู้สูงอายุ กทท. และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจพนักงาน กทท. และให้ความสำคัญกับพนักงานที่ปฏิบัติงานดีและมีความตั้งมั่นในความพากเพียรทุ่มเทจนเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ ด้วยการมอบรางวัลพนักงานดีเด่น จำนวน 4 รางวัล รางวัลวิเชียรมณีฉาย จำนวน 3 รางวัล และมอบของที่ระลึกให้กับพนักงานที่ปฏิบัติงานครบ 15 ปี 25 ปี และ 35 ปี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานด้วย
กทท. มุ่งมั่นพัฒนาสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก พร้อมบูรณาการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือ การพัฒนาธุรกิจและสินทรัพย์ การพัฒนาระบบบริหารจัดการทางการเงินให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน การพัฒนาสมรรถนะองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม การพัฒนาสมรรถนะองค์กรด้วยกระบวนงานทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาองค์กรอย่างมีส่วนร่วมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยได้เร่งดำเนินโครงการที่สำคัญต่าง ๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ในส่วนของท่าเรือ F) โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO) โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการของท่าเรือระนอง โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษ สายบางนา - อาจณรงค์ (S1) โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) การพัฒนาการเชื่อมโยง Data Logistic Chain ด้วยระบบ Port Community System การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ และการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน และท่าเรือชั้นนำระดับโลกอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้ กทท. เร่งรัดการศึกษาและพัฒนาระบบ Port Automation เพื่อให้ท่าเรือของประเทศไทยมีระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านการบริหารจัดการ รวมทั้งให้การสนับสนุนกระทรวงคมนาคมในการศึกษาและพัฒนาโครงการ Land bridge ระนอง-ชุมพร เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการสายการเดินเรือระดับโลกและพัฒนาธุรกิจต่อเนื่องหลังท่าให้ครบวงจร อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ทางน้ำของภูมิภาคอาเซียนต่อไป