รถไฟสีแดงผู้โดยสารทะลุ 1.3 หมื่นคน/วัน รฟฟท.ลุย เพิ่มฟีดเดอร์เชื่อมหัวเมือง นครปฐม, รังสิต จับมือ "ม.มหิดล" วิ่งชัตเติลบัส “ศาลายาลิงก์” ถึงสถานีตลิ่งชัน คาด มิ.ย.ใช้บัตร EMV ได้ พร้อมตั้งเป้ายกระดับองค์กรเป็นศูนย์เรียนรู้ "ระบบขนส่งทางรางของประเทศ"
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง) เปิดเผยว่า นับจากที่บริษัทฯ ได้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีต่อเนื่องมาถึงการให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ที่ได้เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์มาเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือนแล้วนั้น พบว่าการให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง มีสถิติความตรงต่อเวลา และความน่าเชื่อถือ อยู่ที่ 99.96% และ 99.70% รวมทั้งผลสำรวจความพึงพอใจผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น
โดยจำนวนผู้โดยสารปรับเพิ่มสูงขึ้น จากช่วงแรกที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ จากที่ประมาณ 8,000-9000 คนต่อวันเป็นสูงสุดกว่า 13,000 คนต่อวันในปัจจุบัน ขณะที่ผลสำรวจความพึงพอใจผู้โดยสารที่จากคะแนนเต็ม 5 ปรากฏว่าอยู่ในเกณฑ์ดีทุกด้าน ด้านการให้บริการโดยรวม 4.40 , ด้านความปลอดภัย 4.39 , ด้านคุณภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานีและในขบวนรถ 4.39 , ด้านการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูล 4.26 , ด้านเหรียญโดยสาร/บัตรโดยสาร และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด 4.25 และด้านความน่าเชื่อถือต่อความตรงต่อเวลา ความถี่ และคุณภาพในการเดินรถไฟฟ้า 4.23
เนื่องจากบริษัทฯ ให้ความสำคัญในการนำมาตรฐานระดับสากลที่บริษัทได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 ขอบเขต : วิศวกรรมและซ่อมบำรุงและงานปฏิบัติการเดินรถไฟฟ้า จาก BV (Bureau Veritas) มาใช้ในการให้บริการเดินรถไฟฟ้า เพื่อให้ผู้โดยสารที่ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายสูงสุด และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้โดยสาร ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าบริษัทประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเป็นอย่างมาก
@ตั้งเป้ายกระดับองค์กรเป็นศูนย์การเรียนรู้ "ระบบขนส่งทางรางของประเทศ"
ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมาบริษัทได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 ในขอบเขตการปฏิบัติการเดินรถไฟฟ้า ความปลอดภัย และวิศวกรรมซ่อมบำรุง จากหน่วยรับรอง Bureau Veritas (BV) ทำให้เชื่อว่าบริษัทพร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่ปีที่ 12 ด้วยมาตรฐานการดำเนินงานในระดับสากลทุกมิติ และยกระดับการให้บริการผู้โดยสารอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งจะมีการยกระดับองค์กรให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านระบบขนส่งทางรางที่สำคัญของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานภายนอกในการจัดฝึกอบรมความรู้ให้แก่นักศึกษา และผู้ที่สนใจในองค์ความรู้ด้านระบบขนส่งทางราง โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญของบริษัท ซึ่งบริษัทผ่านการรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ให้เป็นองค์กรที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานวิชาชีพ สาขาวิชาชีพรถไฟความเร็วสูงและระบบราง ใน 5 สาขาวิชา จึงมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่จะสามารถถ่ายทอดองค์วามรู้ระบบรางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยโครงการที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการความร่วมมือทางวิชาการ “การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบรางเพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง” ซึ่งร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบรางทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง , มหาวิทยาลัยมหิดล , มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ
หรือโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านพื้นฐานการซ่อมบำรุงช่วงล่างรถไฟฟ้า และพื้นฐานระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม
ส่วนในอนาคตบริษัทมีแผนเตรียมเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาชีพรถไฟความเร็วสูงและระบบรางกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม และเตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันการศึกษาอื่นๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ด้านระบบราง เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
นอกจากนั้น บริษัทยังมีแผนงานในการยกระดับการให้บริการด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ โดยมีโครงการ Smile Service ที่บริษัทดำเนินการมาตลอดหลายปี และยังคงมีแผนที่จะดำเนินการต่อไป เพื่อสร้างความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานให้แก่พนักงานที่ปฏิบัติงานด้านการให้บริการแก่ผู้โดยสาร รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พนักงาน อันจะส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่งานบริการ
ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 2 เรื่องสำคัญ คือ การจัดระบบเชื่อมต่อ ( Feeder ) ของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารและการหากิจกรรมหรือนิทรรศการมาจัดที่สถานีกลางบางซื่อนั้น
โดยในส่วนของการจัดระบบฟีดเดอร์สายสีแดงกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ นั้น ล่าสุดได้มีการเปิดให้บริการรถไฟดีเซล( ชัตเติลเทรน ) เชื่อมต่อนครปฐม-รังสิตด้วยรถไฟทางไกลและรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มอบส่วนลด 50% รถไฟทางไกลเส้นทางนครปฐม-ธนบุรี ตามระยะทาง และตามประเภทผู้โดยสารจากปกติราคา 20-40 บาท โดยขบวนรถดังกล่าวจะหยุดจอดทุกสถานี รวมถึงสถานีตลิ่งชัน ซึ่งผู้โดยสารสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเพื่อเชื่อมต่อไปยังเส้นทาง ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ได้ในราคา 12-42 บาท
@จับมือ "ม.มหิดล" วิ่งชัตเติลบัส “ศาลายาลิงก์” เชื่อมสถานีตลิ่งชัน
นอกจากนั้นบริษัทเตรียมร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มจุดจอดเส้นทางรถชัตเติลบัส “ศาลายาลิงก์” ที่ปกติวิ่งในเส้นทาง ศาลายา-บางหว้า เป็นศาลายา-ตลิ่งชัน-บางหว้า โดยเพิ่มจุดจอดที่รถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีตลิ่งชัน ทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเพิ่มช่องทางการชำระเงินด้วยการใช้บัตร EMV Contactless ซึ่งคาดว่าสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565
ส่วนการหากิจกรรมหรือนิทรรศการต่างๆ มาจัดในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ เหมือนเช่นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาตินั้น ในอนาคตบริษัทได้เตรียมดำเนินการพูดคุยกับหน่วยงานเอกชนที่สนใจจำนวนมากเพื่อหากิจกรรมหรือนิทรรศการต่างๆ มาจัดในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ อาทิ งาน Cat T-Shirt
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าด้วยแผนงานดังกล่าวและมาตรฐานระดับสากลที่บริษัทนำมาใช้ขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติจะส่งผลให้บริษัทสามารถก้าวสู่ปีที่ 12 และยกระดับการให้บริการแก่ผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ