xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ปัดเอื้อ "เจ้าสัว" ต่อสีชมพูเข้าเมืองทองฯ ยันรัฐ-ประชาชนได้ประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม.ปัดเอื้อเจ้าสัว แจงต่อขยายสายสีชมพูเข้าเมืองทองธานี เป็นข้อเสนอเอกชนลงทุน 100% รัฐและประชาชนได้ประโยชน์ ชี้รถไฟฟ้าเข้าถึงที่ดินราคาพุ่งเป็นเรื่องปกติ เตรียมเข้าพื้นที่เริ่มก่อสร้าง 20 มิ.ย.นี้ ใช้เวลา 37 เดือน

จากกรณีที่มีข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็น การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าไปเมืองทองธานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร วงเงิน 4,230 ล้านบาท ทั้งที่เดิมทีแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ไม่ได้เชื่อมต่อเข้าเมืองทองธานี เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนเจ้าของเมืองทองธานีหรือไม่นั้น

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงว่า การต่อขยายดังกล่าวเป็นข้อเสนอพิเศษของ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมเนล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานสายสีชมพูส่วนหลัก ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร

@โต้เอื้อเจ้าสัว ชี้ที่ดินแนวรถไฟฟ้าผ่านราคาพุ่งเป็นเรื่องปกติ

กรณีที่ระบุว่าการต่อขยายเส้นทางเข้าเมืองทองฯ ทำให้ราคาที่ดินพุ่งขึ้นเป็นการเอื้อประโยชน์เอกชนนั้น ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า โดยปกติโครงการรถไฟฟ้าไม่ว่าจะก่อสร้างไปที่บริเวณใด พื้นที่ใด จะส่งผลให้ราคาที่ดินในบริเวณใกล้เคียงสูงขึ้น ดังนั้นหากมองว่าการดำเนินงานรถไฟฟ้าแล้วไปเอื้อเอกชน คงไม่ใช่ เพราะทุกพื้นที่ที่มีรถไฟฟ้าผ่านไปจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการเดินทาง เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่ผ่านย่านเยาวราช ทำให้การเดินทางเข้าออกพื้นที่คล่องตัว พื้นที่ก็มีมูลค่าสูงขึ้น

ส่วนเมืองทองฯ นั้น ด้วยลักษณะของพื้นที่ ที่มีกิจกรรมมาก เพราะมีศูนย์ประชุม สนามกีฬา ที่พักอาศัย สถานที่ราชการ ซึ่งเดิมทีพื้นที่นี้ก็มีมูลค่าสูงอยู่แล้ว ดังนั้น ควรต้องไปโฟกัสที่เรื่องการอำนวยความสะดวกให้ชุมชน ประชาชน ที่มาทำกิจกรรมหรือที่พักอาศัยในพื้นที่มากกว่า

จากที่ รฟม.ได้ดำเนินการศึกษารายละเอียดความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ พบว่าเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการแก่ประชาชนและสาธารณะ โดยจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณรถหนาแน่นเต็มความจุของถนนที่สามารถรองรับได้ อันจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากลดการสูญเสียน้ำมันเชื้อเพลิงจากปัญหาการจราจรติดขัด

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ เป็นการขยายโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder) เพื่อรองรับพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่น แหล่งพาณิชยกรรม และหน่วยงานราชการ ในพื้นที่เมืองทองธานี ซึ่งมีประชากรในพื้นที่กว่า 30,000 คน และมีผู้เดินทางเข้า-ออก ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่เมืองทองธานีเป็นที่ตั้งของที่อยู่อาศัย ชุมชนขนาดใหญ่ สถานที่ราชการ อาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม สนามกีฬา เช่น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อาคารที่พักอาศัย ขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 20 อาคาร มหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตเมืองทองธานี วัดผาสุกมณีจักร โรงเรียนบีเอฟเอส โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย SCG Stadium ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม IMPACT เมืองทองธานี เป็นต้น

ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ เป็นไปตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 ได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางฯ โดยคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 ได้มีมติรับทราบสรุปมติที่ประชุม คจร.ดังกล่าว

@ข้อเสนอเอกชน ลงทุนเอง 100% รัฐ-ประชาชนได้ประโยชน์

ในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ รฟม.ได้เจรจากับผู้รับสัมปทาน (บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด) ซึ่งได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ โดยผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและการลงทุนส่วนต่อขยายฯ เองทั้งหมด ได้แก่ ค่าก่อสร้างงานโยธา ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่างานระบบรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยาย และ รฟม. ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่วนต่อขยายแต่อย่างใด และยังเป็นการเพิ่มโอกาสที่ รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งผลตอบแทนเพิ่มเติม กรณีมีผู้โดยสารสูงกว่าประมาณการผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น

โดยรายได้ส่วนต่อขยายจะนำไปรวมกับรายได้ของเส้นทางหลัก โดยมีหลักการแบ่งผลประโยชน์ที่ 10% รายได้ที่เกิดขึ้นจะทำให้ผลดำเนินงานของเอกชนดีขึ้น ทำให้ผลตอบแทนของเอกชนเร็วขึ้น จะเป็นโอกาสที่ภาครัฐได้รับแบ่งผลกำไรจากเอกชนได้เร็วขึ้นตามไปด้วย ถือเป็นประโยชน์ในภาพรวม

@เริ่ม NTP เข้าพื้นที่ก่อสร้าง 20 มิ.ย. 65

ขณะนี้ รฟม.ออกหนังสือให้บริษัทฯ เริ่มงานเข้าพื้นที่ก่อสร้างโยธาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าเพิ่มเติมส่วนต่อขยายในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 37 เดือน และจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568

คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในส่วนของต่อขยาย 2 สถานี ระดับ 7,000 เที่ยว-คน/วัน  และจะทำให้ผู้โดยสารในระบบสายสีชมพูเพิ่มขึ้น รวมจำนวน 12,700 คนต่อเที่ยวต่อวัน ส่วนค่าโดยสาร มีค่าแรกเข้าที่ 14 บาท เพิ่มสถานีละ 3 บาท ดังนั้น 2 สถานีเดินทางเข้าสู่สายหลัก ค่าโดยสารที่ 20 บาท โดยไม่เสียค่าแรกเข้าใหม่เมื่อเชื่อมต่อกับสายหลักโดยจะนับจำนวนสถานีต่อเนื่องเพราะถือเป็นโครงข่ายเดียวกัน

ทั้งนี้ รฟม.ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของสัญญาร่วมลงทุนฯ พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รวมถึงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2561 ทุกขั้นตอน จนกระทั่งคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี กรณี โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ

ยืนยันว่า รฟม.ได้ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายฯ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและภาครัฐ โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยึดหลักธรรมาภิบาลโดยเคร่งครัด





นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)


กำลังโหลดความคิดเห็น