xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 4 เดือนแรกโต 1.37% สศอ.ชี้ 1-2 เดือนข้างหน้าฟื้นตัวต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงอุตสาหกรรมเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 4 เดือนแรกปีนี้แตะ 101.92 ขยายตัว 1.37% หลังการส่งออกไทยขยายตัวหนุนภาคการผลิตเติบโตตาม ประกอบกับโควิด-19 ในประเทศดีขึ้นทำให้กิจกรรมต่างๆ เริ่มทยอยกลับมา ชี้เปิดประเทศเต็มรูปแบบ หนุนอีก 1-2 เดือน ศก.ไทยไปต่อ จับตาปัจจัยเสี่ยงราคาพลังงาน วัตถุดิบพุ่ง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ระดับ 91.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 91.27 เพิ่มขึ้น 0.56% โดยนับเป็นอัตราการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เม.ย. 65 อยู่ที่ 58.91% ลดลงเล็กน้อยจาก เม.ย. 64 ซึ่งอยู่ระดับ 59.30% เนื่องจากมีการเร่งผลิตรองรับวันหยุดยาวไว้ล่วงหน้า ส่งผลให้ MPI 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย. 65) อยู่ที่ 101.97 ขยายตัว 1.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ CapU 4 เดือนแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 64.63% ทั้งนี้เป็นผลจากการส่งออกของไทยที่ขยายตัวทำให้ภาคการผลิตมีการเติบโตต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

“ปัจจัยหลักมาจากการส่งออกของไทย 4 เดือนแรกปีนี้เติบโต 13.7% ทำให้สินค้าอุตสาหกรรมมีการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงได้รับแรงสนับสนุนจากภาวะค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศคลี่คลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินได้ปกติมากขึ้น และจากการเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบเชื่อว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มจะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัว” นายสุริยะกล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 65 ปัจจัยในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตามประเด็นต่างประเทศยังคงต้องติดตามและเฝ้าระวังทั้งในเรื่องของราคาพลังงานที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันไทยได้ลดการอุดหนุนราคาดีเซลลงทำให้แนวโน้มทยอยปรับขึ้นที่จะกระทบต่อต้นทุนและการขนส่ง ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าทุกประเภท วัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี นโยบาย Zero-COVID ของจีน อาจส่งผลให้การขนส่งล่าช้า รวมถึงเกิดการขาดแคลนสินค้าวัตถุดิบ

“สศอ.ได้ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) ในการคำนวณ สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า อุปสงค์ในประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว ความเชื่อมั่นทางภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ด้านปัจจัยต่างประเทศยังคงส่งสัญญาณปกติจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ยังเติบโตได้แม้อาจต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงแต่ความต้องการสินค้าที่เพิ่มทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกได้มากขึ้นเช่นกัน” นายทองชัยกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนเมษายน 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.82% น้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.53% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบินเป็นหลัก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศมีแนวโน้มคลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.22% จากผลิตภัณฑ์ PCBA และ IC เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น