xs
xsm
sm
md
lg

CPF อัด 3,000 ลบ. ปั้น Meat Zero ลุย ปักธงท็อป3 แพลนต์เบสโลกใน3ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน - เทรนด์อาหารเพื่ออนาคตมาแรง CPF ปักธงลุยแพลนต์ เบส เต็มกำลัง อัด 3,000 ล้านบาท ชูแบรนด์ Meat Zero ตีทุกหัวหาดทั้งไทยและเทศ มั่นใจใน3 ปี ขึ้นแท่น Top 3 ของโลก ด้วยรายได้ไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท

นายอาณัติ จุลินทร รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า เทรนด์อาหารเพื่ออนาคตมาแรง โดยเฉพาะการเกิดโรคโควิด -19 และสงครามรัสเซีย ยูเครน ที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมอาหาร เช่น อินโดนีเซียยกเลิกส่งออกปาล์ม อินเดียยกเลิกส่งออกข้าวสาลี อันเนื่องจากประเทศที่มีกำลังทรัพย์น้อยไม่มีกำลังซื้ออาหารจึงชะลอแผนส่งออก เทรนด์อาหารเพื่ออนาคตและกลุ่มอาหารเพื่อความยั่งยืนจึงมีความสำคัญมากขึ้น
 
ในส่วนของ CPF พร้อมมุ่งสู่ความเป็นผู้ผลิตอาหารระดับโลก เน้นใน 5 กลุ่ม คือ แพลนต์เบส, เนื้อสัตว์ปลอดสารเคมี, อาหารพร้อมทาน, ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง ซึ่ง CPF เอง ถือเป็นผู้ผลิตอาหารที่ครบวงจร ตั้งแต่ อาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ จนไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปต่างๆ และจากเทรนด์อาหารเพื่ออนาคตที่มาแรง บริษัทจึงให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เป็นหลัก ภายใต้แบรนด์ Meat Zero ที่เริ่มทำตลาดมาตั้งแต่พ.ค. ปี2564ที่ผ่านมา
 
โดยแผนการดำเนินงานในปี2565นี้ จะให้ความสำคัญกับ Meat Zero เริ่มตั้งแต่งบลงทุนที่เตรียมใช้ถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3,000 ล้านบาท ที่จะใช้ในช่วง 3ปีนี้ ซึ่งตั้งแต่ปีก่อนได้ลงทุนด้านการผลิต สร้างโรงงานที่มหาชัย เริ่มกำลังการผลิตได้ Q4 ปีนี้ กำลังการผลิตราว 12,000 ตัน/ปี และร่วมทุนทางฝั่งยุโรป ทำกำลังผลิตได้อีก 9,000 ตัน/ปี ซึ่งจากนี้จะมุ่งสร้างแบรนด์ ขณะที่การจัดจำหน่าย CPF มีความแข็งแกร่งอยู่แล้วทั้งไทยและต่างประเทศ
 
“แบรนด์Meat Zero เริ่มทำตลาดอาหารแพลนต์เบสตั้งแต่พ.ค.ปีก่อน รวมถึงเริ่มทำตลาดฮ่องกง และสิงคโปร์ไปแล้วบ้าง ส่งผลให้ปีก่อนทำรายได้รวมอยู่ที่ 200-250 ล้านบาท มาจากในประเทศ 70-80% และต่างประเทศ 20% ส่วนในปีนี้จะรุกต่างประเทศมากขึ้น ทั้ง เกาหลี ญี่ปุ่น ส่วนยุโรป อเมริกาจะเริ่มได้ปลายปีนี้ และเยอรมันกำลังดูอยู่ ขณะที่จีนเองกำลังศึกษาเช่นกัน เชื่อมั่นว่าภายในสิ้นปีจะขึ้นเป็นผู้นำตลาดแพลนต์เบส ของเอเชีย และใน 3 ปีจะก้าวสุ่ Top 3 ของระดับโกลบอล” นายอาณัติ กล่าว

ปัจจุบันตลาดแพลนต์เบสทั่วโลกน่าจะมีมูลค่า 2,000-3,000 ล้านบาท แต่ถ้ารวมกลุ่มนมที่มาจากพืชด้วยแล้ว น่าจะมีมูลค่า 70,000 ล้านบาท ในระยะยาวหรืออย่างน้อย 10ปีจากนี้ คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าได้ถึง 1 ล้านล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 30-40% ต่อเนื่องทุกปี ซึ่งปัจจุบันเทรนด์การบริโภคแพลนต์เบสนั้น พบว่า อังกฤษมีอัตราบริโภคต่อคนสูงที่สุดในโลก ขณะที่ตลาดแพลนต์เบสที่ใหญ่ที่สุดที่โลก คือ สหรัฐอเมริกา ด้วยจำนวนประชากรที่มากอยู่แล้ว ส่วนประเทศที่น่าสนใจและกำลังมาแรงคือ ประเทศจีน ทั้งในแง่จำนวนประชากร และการบริโภคแพลนต์เบสที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเต้าหู้ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น