xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคม จ.ศรีสะเกษ เทงบ 1.5 พันล้าน ช่วยสร้างงานกระจายรายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” ลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เร่งรัดแผนพัฒนาโครงข่ายถนน เผยทุ่มงบกว่า 1,585 ล้านบาทสร้างงานกระตุ้น ศก.และยกระดับการเชื่อมโยงเดินทางกลุ่มจังหวัดภาคอีสานไปยังลาว และเวียดนาม หนุนการค้าและท่องเที่ยว

วันที่ 20 พ.ค. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารกระทรวงคมนาคมโดยมี นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทย ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน ประชาชนชาวอำเภอเมืองและอำเภอวังหิน ร่วมให้การต้อนรับ ณ หอประชุมเทศบาลเมืองศรีสะเกษ (เกาะกลางน้ำ) อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคม การส่งเสริมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ โดยเร่งรัดการเปิดให้บริการโครงข่ายคมนาคม เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร รองรับเชื่อมโยงการเดินทางกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและประเทศเวียดนาม สนับสนุนการค้าการท่องเที่ยวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กระทรวงฯ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินตามภารกิจดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19

สำหรับการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญทุกโหมดการเดินทางในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ดังนี้

มิติทางบก ประกอบด้วยถนนทางหลวง (ทล.) ระยะทาง 1,032.13 กิโลเมตร และถนนทางหลวงชนบท (ทช.) จังหวัดศรีสะเกษ ระยะทาง 1,198.68 กิโลเมตร โดยมีโครงการที่สำคัญ คือ

การพัฒนาโครงข่ายทางหลวง ปัจจุบัน ทล.มีโครงการทางหลวงที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 3 โครงการ วงเงินรวม 952.039 ล้านบาท ได้แก่
1. โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 226 สาย อำเภอห้วยทับทัน-ศรีสะเกษ ระยะทาง 13.795 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง659.129 ล้านบาท ผลการดำเนินงาน 30.84%

2. โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 221 สายศรีสะเกษ-อำเภอพยุห์ ระยะทาง 6.00 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 154.33 ล้านบาท ผลการดำเนินงาน 0.29%

และ 3. โครงการก่อสร้างเพิ่มช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 2085 สายอำเภอกันทรลักษ์-กันทรารมย์ ตอนบ้านน้ำอ้อม-บ้านสี่แยก ระยะทาง 4.450 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 138.58 ล้านบาท ผลการดำเนินงาน 0.34%

การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางและสะพาน งานบำรุงรักษาทาง และงานอำนวยความปลอดภัย รวม 40 โครงการ งบประมาณรวม 415.275 ล้านบาท

ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างถนนและยกระดับชั้นทาง ถนนเชิงลาดสะพานข้ามห้วยขะยูง บ้านกุดผักหนาม-บ้านเขวาธนัง อำเภอเบญจลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ระยะทาง 2.235 กิโลเมตร งบประมาณ 18.50 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างถนน และยกระดับชั้นทาง ถนนสาย ศก.4020 แยกทางหลวงหมายเลข 2200-บ้านกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ระยะทาง 3.40 กิโลเมตร งบประมาณ 49.50 ล้านบาท 3. โครงการพัฒนาสะพานขนาดกลาง สะพานข้ามคลองตาเสก ในสายทาง ศก.5060 อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ระยะทาง 30 เมตร งบประมาณ 4.95 ล้านบาท และ 4. โครงการก่อสร้างโครงข่ายสะพานข้ามห้วยทับทัน อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ ระยะทาง 140 เมตร งบประมาณ 48.78 ล้านบาท

3. การศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP ซึ่งกระทรวงฯ ได้ศึกษาแผนแม่บทโครงข่าย MR-MAP ได้ศึกษาแล้วเสร็จ และคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (คจร.) ได้เห็นชอบร่างโครงข่ายแผนแม่บทแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างร่างแผนการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-FS) ทุกเส้นทาง จัดทำแผนปฏิบัติการและแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดยเส้นทางที่จะเชื่อมกับจังหวัดศรีสะเกษ

ได้แก่ 1. เส้นทาง MR5 มีจุดเริ่มต้นที่จังหวัดนครสวรรค์ สิ้นสุดที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 จังหวัดอุบลราชธานี ระยะทางรวมประมาณ 722 กิโลเมตร

มิติทางราง ปัจจุบันมีขบวนรถไฟที่วิ่งผ่านสถานีจังหวัดศรีสะเกษ เที่ยวขึ้น-เที่ยวล่อง มีวันละ 20 ขบวน โดยกระทรวงฯ มีแผนพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ในแผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2560-2564) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กิโลเมตร โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางชุมทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 5 เส้นทาง คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566

และแผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2569) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการและจัดทำรายงาน EIA

มิติทางน้ำ มีการพัฒนาทางน้ำในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและยโสธร ซึ่งปัจจุบันกระทรวงฯ มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ดังนี้

1. โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือในแม่น้ำโขงบริเวณเทศบาลตำบลบ้านด่านโขงเจียม วงเงินลงทุน 36.8000 ล้านบาท  มีความคืบหน้าโครงการแล้ว ร้อยละ 58.00

2. โครงการจ้างก่อสร้างขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศที่แม่น้ำชี กม. ที่ 55+000 - 60+000 วงเงิน 7.0357 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง

3. โครงการซ่อมแซมเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง แม่น้ำลำโดมใหญ่ บริเวณท่าน้ำวัดแสงเกษม วงเงินลงทุน 107,000 บาท มีความคืบหน้าโครงการแล้วร้อยละ 98.70

และ 4. โครงการซ่อมแซมเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง แม่น้ำลำเซบาย อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร วงเงินลงทุน 340,000 บาท มีความคืบหน้าโครงการแล้วร้อยละ 98.70

นอกจากนี้ กระทรวงฯ อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการจ้างก่อสร้างขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศที่แม่น้ำชี กม.ที่ 195-200 อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ถึงอำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร วงเงินลงทุน 41.8000 ล้านบาท โดยช่วง กม.ที่ 155+000 - 165+000 อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ถึงอำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร วงเงินลงทุน 45.5649 ล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการชี้แจงคณะกรรมาธิการ งบประมาณปี 2566 ในช่วง กม.ที่ 120+000 และ กม.ที่ 135+000 - 145+000 อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร

ส่วนมิติทางอากาศนั้น ในพื้นที่ใกล้เคียงมีท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษอยู่ห่างจากจังหวัดอุบลราชธานี เพียง 60 กิโลเมตร ประชาชนสามารถเดินทางไปใช้บริการได้อย่างสะดวก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างศูนย์ขนส่งผู้โดยสารและปรับปรุงลานจอดรถยนต์ เพื่อเป็นศูนย์การขนส่ง (Transportation Hub) งบประมาณ 86.80 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดใช้ได้ในปี 2566

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งทุกโหมดการเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและคมนาคมขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับภูมิภาคอื่นๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป












กำลังโหลดความคิดเห็น