xs
xsm
sm
md
lg

TOP ชี้ไตรมาส 2 โตต่อเนื่อง โรงกลั่น Onsan ระเบิดส่งผลเบนซินตึงตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยออยล์คาดไตรมาส 2/65 ผลดำเนินงานโตขึ้นจากไตรมาสก่อน เหตุค่าการกลั่นรวม (GIM) สูงและบันทึกกำไรจากการขายหุ้น GPSC ชี้เหตุการณ์โรงกลั่นน้ำมัน Onsan ระเบิดทำให้ตลาดน้ำมันเบนซินยิ่งตึงตัวขึ้น

นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2565 จะยังเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2565 แม้ว่าจะมีกำไรสต๊อกน้ำมันไม่ได้สูงเท่ากับไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันอ่อนตัวลง แต่ค่าการกลั่นรวมเฉลี่ย (GIM) ยังอยู่ในระดับสูง หลังจากความต้องการใช้น้ำมันฟื้นตัวขึ้นหลังจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และอุปทานตึงตัวจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย

นอกจากนี้ บริษัทจะบันทึกกำไรจากการขายหุ้น บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ให้ ปตท.เข้ามาในไตรมาส 2 นี้ประมาณ 11,000 ล้านบาท ทำให้ไตรมาส 2/2565 เติบโตอย่างมาก

ส่วนทิศทางราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือ 6-7 เดือนของปี 2565 คาดว่าราคาจะทรงตัวในระดับสูงถึงอ่อนตัวลงเล็กน้อย จากปัญหาความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน โดยรัสเซียถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก หรือมีปริมาณการส่งออกราว 4.5 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งราว 3 ล้านบาร์เรลส่งไปที่ยุโรป แต่หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียกับยูเครนขึ้น ทำให้ยุโรปลดการซื้อน้ำมันจากรัสเซียลงไปราว 1 ล้านบาร์เรล/วัน แม้ว่าการส่งออกน้ำมันของรัสเซียช่วงนี้จะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่หลายสำนักคาดการณ์ว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการผลิตของรัสเซียได้ในอนาคตราว 1-2.8 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะเดียวกันมีผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นผลิตเข้ามาเพิ่มขึ้น รวมถึงการปล่อยน้ำมันสำรองยุทธศาสตร์ของหลายประเทศในช่วง 6 เดือนข้างหน้าราว 240 ล้านบาร์เรล และกลุ่มโอเปกพลัส มีข้อตกลงจะเพิ่มกำลังการผลิตด้วย และสหรัฐฯ บราซิลเตรียมผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 700,000 บาร์เรล/วัน และ 300,000 บาร์เรล/วัน ตามลำดับ ทำให้โดยรวมแล้วประเทศนอกกลุ่มโอเปกจะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 2.3 ล้านบาร์เรล/วัน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันจะปรับตัวดีขึ้น

ส่วนกรณีเกิดเหตุระเบิดโรงกลั่น Onsan ของบริษัท S-Oil ซึ่งเป็นบริษัทกลั่นน้ำมันรายใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศเกาหลีใต้ มีหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ 3 หน่วย โดยมีกำลังการผลิตรวม 580,000 บาร์เรล/วัน คาดว่าจะกระทบต่อหน่วยการผลิตน้ำมันเบนซินและอะโรเมติกส์บางส่วน ซึ่งขณะนี้น้ำมันเบนซินในภูมิภาคก็ตึงตัวอยู่แล้ว จึงเป็นปัจจัยหนุนให้มาร์จิ้นยืนในระดับสูงต่อเนื่อง

สำหรับภาพรวมของตลาดปิโตรเคมี พบว่าสายอะโรเมติกส์ยังอยู่ในภาวะล้นตลาด กดดันมาร์จิ้นพาราไซลีน (Px) และเบนซีน แต่ในช่วงสั้นคาดรีบาวนด์ขึ้นมาได้บ้าง เนื่องจากสเปรดที่ปรับตัวลงต่ำ ก็จะมีการลดกำลังการผลิตโรงอะโรเมติกส์ลงทำให้ผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์หายไปจากตลาดได้บ้าง ส่วนภาพของโอเลฟินส์จะคล้ายกับอะโรเมติกส์ เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีนี้จะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาทั้ง PE, PP ก็จะทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของภูมิภาคเอเชียอยู่ในระดับต่ำ แต่คาดว่าในปี 2567 อัตราการใช้กำลังการผลิตจะเริ่มดีขึ้น รวมถึง Spread ด้วย

ส่วนความคืบหน้าโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) คาดว่าการดำเนินการเชิงพาณิชย์จะล่าช้าไปอีก 1 ปี หรือจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567 จากเดิมคาดปี 2566 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องหยุดการก่อสร้างโครงการในช่วงที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น