xs
xsm
sm
md
lg

จับตานโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพรัฐทำป่วน 15 รง.ไบโอดีเซลระส่ำ E85 รอวันยกเลิกใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ประกอบการไบโอดีเซลและเอทานอลโอดครวญนโยบายรัฐเปลี่ยนแปลงไม่มีความชัดเจนตามแผนที่วางไว้หลังส่งสัญญาณลดผสมไบโอดีเซลจาก B5 เป็น B3 ทั้งที่เป้าหมายให้ B10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน 15 โรงงาน B100 วอนรัฐหากลดลงอีกคงไม่อาจดำเนินธุรกิจอยู่ได้ ขณะที่ผู้ผลิตเอทานอลมึนรัฐจนถึงวันนี้ยังไม่ประกาศเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แถมลดอุดหนุน E85 ส่งสัญญาณยกเลิกการใช้เพิ่มอีก

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ภาครัฐเตรียมปรับสูตรการผสมไบโอดีเซล (B100) ในดีเซลจาก 5% (B5) เหลือ 3% หรือเป็น B3 ว่า ต้องการให้ภาครัฐคงการจำหน่าย B5 ไว้เช่นเดิมเนื่องจากจะส่งผลให้โรงงานผู้ผลิต B100 ที่มีอยู่ปัจจุบัน 15 แห่งกำลังการผลิตรวมราว 9.7 ล้านลิตรต่อวันจะเหลือกำลังผลิตเฉลี่ยคิดเป็นเพียง 2 ล้านลิตรต่อวันตามปริมาณการใช้เท่านั้น ซึ่งอัตรากำลังการผลิตนี้จะทำให้ผู้ประกอบการไม่อาจดำเนินธุรกิจอยู่ได้ และเมื่อราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) กลับไปสู่ภาวะปกติรัฐอาจขาดเครื่องมือในการดูดซับซึ่งที่สุดจะย้อนกลับไปกระทบต่อราคาปาล์มของเกษตรกรให้ตกต่ำได้

“ผู้ประกอบการได้ลงทุนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของกระทรวงพลังงานที่ส่งเสริม โดย 1 ม.ค. 2563 รัฐได้ประกาศให้ไบโอดีเซล B10 เป็นเกรดพื้นฐาน ส่งผลให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ปลายปีที่แล้วรัฐปรับลดสัดส่วนการผสมจาก 3 เกรด คือ B10 B7 และ B20 เหลือเกรดเดียวคือ B7 โดยอ้างถึงราคา B100 ที่นำมาผสมแพงเกินไป ต่อมาได้ลดลงเหลือเพียง B5 ทำให้การใช้ B100 ลดลงถึง 35-40% หรือคิดเป็นมูลค่า 50-60 ล้านบาทต่อวัน และหากลดลงอีกผู้ประกอบการแทบจะไม่เหลือกำลังการผลิตใดๆ เลย” นายศาณินทร์กล่าว

นอกจากนี้ การลดสัดส่วนผสมจาก B5 เป็น B3 จะลดราคาขายปลีกให้แก่ผู้บริโภคได้เพียงเฉลี่ย 25 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยราคา B100 มีราคาสูงเฉลี่ย 62.74 บาทต่อลิตรเนื่องจากวัตถุดิบคือ CPO มีราคาสูงตามทิศทางตลาดโลกที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยูเครนเป็นผู้ผลิตน้ำมันทานตะวันรายใหญ่ของโลกเมื่อส่วนนี้หายไปทำให้ความต้องการน้ำมันจากปาล์มจึงสูงราคาน้ำมันจากพืชต่างๆ ล้วนปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม ประกอบกับอินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มดิบเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนในประเทศทำให้กดดันตลาดมากยิ่งขึ้น

“คงต้องติดตามอีก 1-2 สัปดาห์ว่าอินโดนีเซียจะพิจารณากลับมาส่งออกตามเดิมหรือไม่หลังจากที่ส่งสัญญาณว่าจะทยอยส่งออก ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้จริงราคาปาล์มจะร่วงลงแต่หากยังคงเดิมราคาก็ยังทรงตัวระดับสูง ส่วนการส่งออก B100 ต้องเข้าใจว่าไทยส่งออกลำบากเนื่องจากภาพรวมไม่อาจแข่งขันได้เพราะมีปัญหาทางโครงสร้างราคานับตั้งแต่ต้นทางที่ต้นทุนการผลิตปาล์มของไทยและผลผลิตต่อไร่ต่ำทำให้ราคาสูงกว่าเพื่อนบ้าน” นายณินทร์กล่าว

แหล่งข่าวจากสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้กำหนดให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดการอุดหนุนแก๊สโซฮอล์ E85 ลงจาก 4.53 บาทต่อลิตรเหลือ 0.53 บาทต่อลิตรโดยทยอยปรับลดลงซึ่งล่าสุดได้ลดลงมาสู่ระดับ 1.53 บาทต่อลิตร โดยนโยบายดังกล่าวรัฐได้ดำเนินการลักษณะเดียวกับแก๊สโซฮอล์ 91 ที่ไม่ตัดสินใจประกาศยกเลิกการจำหน่ายแต่ให้กลไกตลาดทำหน้าที่หากมีผู้ใช้น้อยสถานีบริการน้ำมันจะยกเลิกจำหน่ายไปเอง

“แม้ว่าสถานีบริการน้ำมันต้องการให้รัฐบาลประกาศลดจำนวนหัวจ่ายลงเพราะขณะนี้ไทยมีมากทำให้ประชาชนสับสน โดยเฉพาะการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ที่เป็นนโยบายตั้งแต่แรกส่งเสริมเพื่อผลักดันการผสมเอทานอลที่มีเป้าหมาย 9 ล้านลิตรต่อวัน แต่ถึงวันนี้รัฐก็ไม่กล้ายกเลิกโดยอ้างถึงจำนวนรถยนต์ที่ยังคงใช้แก๊สโซฮอล์ 91 รวม 6 ล้านลิตรต่อวันทั้งที่รถบางส่วนก็ใช้แก๊สโซฮอล์ 95 ได้ แถมยังส่งสัญญาณเลิก E85 นโยบายเหล่านี้ทำให้เอกชนขาดความเชื่อมั่น” แหล่งข่าวกล่าว

ปัจจุบันราคาเอทานอลอยู่ที่ 26.43 บาทต่อลิตร ขณะที่เบนซินหน้าโรงกลั่นสูงเกือบ 30 บาทต่อลิตร จึงเห็นว่าการส่งเสริมผสมยิ่งเป็นประโยชน์มากกว่าการที่รัฐไม่ส่งเสริมมากนัก แต่การที่ผู้ผลิตไม่ได้ออกมาโวยวายเพราะเห็นว่า E85 ยอดใช้ยังต่ำประกอบกับวัตถุดิบที่นำมาผลิตค่อนข้างสูงทั้งโมลาสและมันสำปะหลังทำให้สต๊อกเอทานอลที่มีอยู่สมดุลกับการใช้ในปัจจุบันไม่เกิดขาดแคลน
กำลังโหลดความคิดเห็น