ยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง มี.ค.โต 1.4% ส่งผลให้ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ปี 2565 โต 9.3% สะท้อนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศทยอยฟื้นตัวหนุนภาคส่งออกพุ่ง ท่องเที่ยวเริ่มฟื้น รวมถึงมาตรการกระตุ้น ศก.รัฐ โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งน้ำมันอากาศยาน ดีเซล น้ำมันเตา แอลพีจี NGV ยกเว้นกลุ่มเบนซินลดลง เหตุราคาขายปลีกสูง ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบโต 10.5% แต่มูลค่าทะลุ 2.8 แสนล้านบาท โต 95.1% เหตุพิษสงครามรัสเซีย-ยูเครนดันราคาโลกพุ่งสูง
รายงานข่าวจากกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กระทรวงพลังงานแจ้งถึงความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนมี.ค. 2565 เบื้องต้นอยู่ที่ 150.60 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับ มี.ค. 64 ที่การใช้อยู่ในระดับ 148.47 ล้านลิตรต่อวัน ส่งผลให้การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค. 65) อยู่ที่ 13,704 ล้านลิตรหรือคิดเป็น 152 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 9.3% จากไตรมาสแรกปี 2564 ทั้งนี้เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวจากมาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์และเริ่มมีการเปิดประเทศมากขึ้นไทยจึงได้รับผลบวกจากการส่งออก และท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวตาม รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ
ทั้งนี้สะท้อนได้จากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไตรมาสแรกปีนี้เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่าการใช้น้ำมันกลุ่มอากาศยาน มี.ค.อยู่ที่ 674.32 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 54.7% น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 6,863 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 13.4% น้ำมันเตาอยู่ที่ 574.69 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 18.4% ก๊าซปิโตรเลียมเหลว 2,906 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 13.4% ส่วนก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) อยู่ที่ 299.6 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 1.9%
ขณะที่น้ำมันกลุ่มเบนซินอยู่ที่ 2,684.06 ล้านลิตร ปรับตัวลดลง 5.25% โดยเป็นการปรับลดลงของกลุ่มเบนซิน ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ 91 การใช้อยู่ที่ 619 ล้านลิตร ลดลง 8.3% แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 1,297 ล้านลิตร ลดลง 1.4% แก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 513.27 ล้านลิตร ลดลง 10% ยกเว้นแก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 86.43 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 22.7% ซึ่งปัจจัยหลักมาจากระดับราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงตามทิศทางตลาดโลก ส่งผลให้คนใช้รถน้อยลงหรือหันไปเติมชนิดที่ราคาต่ำเช่น E85 ขณะที่การท่องเที่ยวยังคงค่อยๆ ฟื้นตัว
"การใช้น้ำมันฯ กลุ่มเบนซินที่ลดลงส่งผลทำให้การใช้เอทานอลปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยการใช้เอทานอล มี.ค.อยู่ที่ 3.7 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 14.8% เมื่อเทียบกับ มี.ค. 64 ขณะที่ไบโอดีเซลหลังจากที่รัฐกำหนดลดสัดส่วนผสมในดีเซลเหลือเกรดเดียวเป็น B5 ทำให้การใช้ไบโอดีเซล มี.ค.อยู่ที่ 3.61 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 32.4%" แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 13,911.6 ล้านลิตร (เฉลี่ย154.6 ล้านลิตรต่อวัน) เพิ่มขึ้น 10.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสะท้อนจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรวมที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบ 281,393 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 95.1% ที่มีมูลค่านำเข้า 144,222 ล้านบาท โดยปัจจัยสำหรับที่ทำให้มูลค่านำเข้าสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากปริมาณที่เพิ่มขึ้นแล้วระดับราคาตลาดโลกที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบทะยานไปสู่ระดับเฉลี่ย 90-100 เหรียญต่อบาร์เรล ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่ามากขึ้น