xs
xsm
sm
md
lg

ราคาพลังงานหนุนกลุ่ม ปตท.ไตรมาส 2 พุ่งต่อ PTTEP-TOP โดดเด่นรับ ศก.ฟื้นดันดีมานด์โต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราคาพลังงานที่ดีดตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังเปิดฉากสงครามรัสเซียกับยูเครนนับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยในไตรมาส 1 นี้อยู่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หนุนรายได้กลุ่ม ปตท.ในไตรมาส 1/2565 ปรับตัวสูงขึ้นมากจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากพิจารณากำไรสุทธิพบว่าปรับตัวลดลง ยกเว้น บมจ.ไทยออยล์ ที่มีกำไรสุทธิเติบโตโดดเด่นที่สุด

ผลประกอบการไตรมาส 1/2565 ของ บมจ.ปตท. (PTT) มีกำไรสุทธิ 25,571 ล้านบาท ลดลง 21.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 32,588 ล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4/2564 มีกำไรสุทธิลดลงเพียง 7.2% จากไตรมาสก่อนที่มีกำไรสุทธิ 27,544 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 1/2565 ปตท.มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ 48,979 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 41,581 ล้านบาท ส่วนใหญ่จากสัญญาประกันความเสี่ยง (เฮดจิ้ง) ราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ของหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของปตท.(PTTT) และบริษัทลูกคือ บมจ.พีทีทีโกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) สืบเนื่องจากราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าที่ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่ ปตท.มีรายได้จากการขาย 758,465 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58.7% จากไตรมาส 1/2565 และโตขึ้นจากไตรมาสก่อน 10.1% เป็นผลมาจากราคาขายเฉลี่ยทุกกลุ่มธุรกิจเติบโตขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันทั้งกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มธุรกิจน้ำมัน รวมถึงปริมาณขายก็เพิ่มตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมก็มีรายได้จากการขายที่สูงขึ้นตามราคาขาย และปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น

มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ (EBITDA) ในไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 142,701 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.8% จากไตรมาส 1/2564 และเติบโตขึ้น 40.9% จากไตรมาสก่อน มาจากกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่มีค่าการกลั่นทางบัญชี (Accounting GRM) ที่เพิ่มขึ้นเป็น 8.8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ระดับ 6.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยกลุ่ม ปตท.มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 11,000 ล้านบาทตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนด้วย

กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี ในไตรมาส 1/2565 ได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบ (สเปรด) ปิโตรเคมีทั้งสายอะโรเมติกส์และโอเลฟินส์ที่ปรับตัวลดลง ส่วนกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน พบว่าไตรมาส 1/2565 มีผลการดำเนินงานลดลงเช่นกัน โดยหลักมาจากธุรกิจไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสูงขึ้นทำให้อัตรากำไรจากการขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง

            


อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)(PTT) กล่าวถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2565 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องเป็นผลจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ราคาขายผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม ปตท.ยังสูงอยู่ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งการเปิดประเทศทั้งไทยและอาเซียนทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะฟื้นตัวหลังยกเลิกมาตรการ Test&Go ของไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ส่วนภาคการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวแต่อาจได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศจีนที่ส่งสัญญาณชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาใกล้ชิด คือการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่จะเป็นตัวกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ส่วนผลขาดทุนจากการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์นั้นคาดว่าจะไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2565 แม้ว่าช่วงนี้ราคาน้ำมันดิบยังทรงตัวในระดับสูงก็ตาม โดยปีนี้ธุรกิจการกลั่น ธุรกิจ E&P รวมถึงธุรกิจน้ำมันจะมีบทบาทสำคัญที่หนุนให้ผลประกอบการ ปตท.ในปีนี้เติบโตต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ปตท.เร่งขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างอรุณพลัส (บริษัทย่อย ปตท.ถือหุ้น 100%) กับ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ “นูออโว พลัส” (NUOVO PLUS) เพื่อเป็นหัวหอกลงทุนในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน

โดยอรุณพลัสจับมือพันธมิตรอย่าง Foxconn จัดตั้งบริษัทร่วมทุน “ฮอริษอน พลัส”(Horizon Plus) มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3,220 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1/2567

ด้านบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ปตท.ถือหุ้น 100% ปิดดีลการซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท อัลโวเจน อีเมอร์จิง มาร์เก็ต โฮลดิ้ง จำกัด (AEMH) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลัก Lotus Pharmaceutical และถือหุ้น 100% ของ บริษัท อดัลโว จำกัด (Adalvo) บริษัทชั้นนำด้านการซื้อขายยาและสิทธิบัตรที่มีเครือข่ายทั่วโลก โดยการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนกว่า 475 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้อินโนบิกเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Lotus Pharmaceutical ในสัดส่วน 37% และ Adalvo 60% สอดรับเป้าหมายการรุกสู่ธุรกิจ New S-Curve ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยา เทคโนโลยีทางการแพทย์ และอาหารเพื่อสุขภาพ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ปตท.และบริษัทปตท.สผ.ศูนย์บริหารธุรกิจ จำกัด (PTTEP BC) ได้มีการลงนามสัญญาขายหุ้นทั้งหมดของบริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด (PTTGL) ให้กับบริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ด้วยมูลค่าสัญญารวมทั้งสิ้นประมาณ 255 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ PTTGL มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ LNG อย่างครบวงจร และก้าวไปสู่ Global LNG player ตามแผนกลยุทธ์ของกลุ่ม ปตท. คาดว่าธุรกรรมการซื้อขายหุ้นจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2565


ปีทอง ปตท.สผ.-ไทยออยล์

บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ.ได้อานิสงส์โดยตรงจากราคาน้ำมันและก๊าซฯ ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น กอปรกับบริษัทมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายปิโตรเลียมในปีนี้เพิ่มขึ้นด้วย แม้ว่าอัตราการผลิตในโครงการจี1/61 (เอราวัณ) ที่ ปตท.สผ.รับช่วงต่อจากผู้รับสัมปทานเดิม ผลิตไว้ค่อนข้างต่ำในวันสิ้นสุดสัมปทานอยู่ที่ 376 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ ปตท.สผ.วางแผนรับมือเพื่อเร่งเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้ตามเงื่อนไขในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายใน 24 เดือนนี้

โดยในไตรมาส 1/2565 ปตท.สผ.มีรายได้รวม 2,083 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 68,890 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,779 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 54,034 ล้านบาท) และเพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาส 4/2564 สาเหตุหลักมาจากราคาขายผลิตภัณฑ์ในไตรมาสนี้ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 427,368 บาร์เรลต่อวัน เทียบกับ 420,965 บาร์เรลต่อวันในไตรมาส 4 ของปีก่อน แต่ในไตรมาสที่ 1/2565 บริษัทมีรายจ่ายจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-operating items) โดยมีผลขาดทุนจากการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน จำนวน 240 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ ปตท.สผ.มีกำไรสุทธิ 318 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 10,519 ล้านบาท) ลดลง 8.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 11,533.68 ล้านบาท และลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับในไตรมาส 4 /2564 ที่มีกำไรสุทธิที่ 321 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 10,646 ล้านบาท)

มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. คาดการณ์ปริมาณการขายเฉลี่ยสำหรับไตรมาส 2 ปี 2565 และทั้งปี 2565 อยู่ที่ 467,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 416,141 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เนื่องจากรับรู้เต็มปีของโครงการมาเลเซีย แปลงเอช และโครงการโอมาน แปลง 61 รวมถึงการเริ่มผลิตปิโตรเลียมของโครงการจี1/61 และโครงการ แอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ซึ่งจะเริ่มการผลิตในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ส่วนราคาขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยสำหรับไตรมาส 2 ปี 2565 และทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 6.2 และ 6.4 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็นผลจากการปรับราคาย้อนหลังของราคาก๊าซฯ

ขณะเดียวกัน ปตท.สผ.มองหาโอกาสทางการลงทุนในธุรกิจใหม่นอกเหนือจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน โดยร่วมมือกับพันธมิตรทำการศึกษาเกี่ยวกับการผลิตกรีนอีเมทานอลซึ่งเป็นพลังงานสะอาด และการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ในการช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันนำไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) ภายในปี 2593

ส่วน บมจ.ไทยออยล์ (TOP) โชว์รายได้จากการขายในไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 114,506 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.89% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 7,183 ล้านบาท เติบโตขึ้น 113.77% จากไตรมาส 1/2564 เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันพุ่งถึง 14,472 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อน 9,816ล้านบาท มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน (Accounting GIM) อยู่ที่ 23.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ EBITDA 13,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี Accounting GIM 10.2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และEBITDA 8,272 ล้านบาท

ขณะที่หนี้สินรวมของกลุ่มไทยออยล์ปรับเพิ่มขึ้น 29,963 ล้านบาทจากสิ้นปี 2564 มาอยู่ที่ 269,013 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13% เนื่องจากมีหนี้สินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบขึ้น รวมทั้งเงินกู้ยืมระยะยาวและหุ้นกู้ที่เพิ่มขึ้น

ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 ของไทยออยล์คาดว่าเติบโตต่อเนื่องตามทิศทางราคาน้ำมันที่สูง โดยมี Accounting GIM ในระดับที่ดี เนื่องจากมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมีกำไรพิเศษจากการขายหุ้น GPSC ทำให้ไทยออยล์มีกำไรเติบโตโดดเด่นกว่าบริษัทอื่นในกลุ่ม ปตท. ส่วนครึ่งหลังปี 2565 บริษัทมีภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง หลังดำเนินการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 275,120,000 หุ้น เพื่อไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan)ในการเข้าลงทุนใน PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk หรือ CAP ราว 3 หมื่นล้านบาท ทำให้ฐานะการเงินไทยออยล์แข็งแกร่งอีกครั้ง


สำหรับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล ( PTTGC) ผลประกอบการไตรมาส 1/2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 4,211.66 ล้านบาท ลดลง 57% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากขาดทุนตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยงน้ำมัน 8,500 ล้านบาท สวนทางรายได้จากการขายรวมที่พุ่งขึ้น72%จากช่วงเดียวกันปีก่อนมาอยู่ 175,554 ล้านบาท เป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี รวมทั้งรับรู้ผลประกอบการของบริษัท allnex ด้วย

ส่วนแนวโน้มในไตรมาส 2 นี้ บริษัทยังมีปัจจัยลบจากกำลังการผลิตปิโตรเคมีใหม่ที่เข้าสู่ตลาดโลกกดดันอยู่ แม้ว่าราคาวัตถุดิบคือแนฟทาที่ใช้ในการผลิตปิโตรเคมีได้เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบส่งผลให้โรงงานปิโตรเคมีบางแห่งเดินเครื่องผลิตได้ไม่เต็มที่ รวมทั้งบริษัทมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงงานในช่วงไตรมาส 2/2565

IRPC-GPSC กอดคอกำไร Q1 ร่วงหนัก

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2565 ของ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) แม้ว่าจะมีรายได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่กำไรสุทธิกลับปรับลดลงสูงสุดเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในกลุ่ม ปตท.ด้วยกัน

บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) มีกำไรไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 1,501.08 ล้านบาท ลดลง 73% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,581.20 ล้านบาท แม้ว่าบริษัทมีรายได้จากการขายโตขึ้น 58% มาอยู่ที่ 76,608 ล้านบาท เป็นผลจากราคาและปริมาณขายที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานและปิโตรเคมีส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง แม้ว่าจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน ทำให้Accounting GIM ลดลง 2,076 ล้านบาท หรือลดลง 17%

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในไตรมาส 2/2565 ยังถูกกดดันจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (สเปรด) ที่ยังไม่ดีจากต้นทุนราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมาก แต่หากราคาน้ำมันดิบในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ยืนได้ในระดับสูงบริษัทจะมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันอยู่

ด้านผลประกอบการ GPSC ในไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ มีรายได้ทั้งสิ้น 27,261 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 313 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 84% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากราคาค่าเชื้อเพลิงทั้งก๊าซฯ และถ่านหินสูงขึ้นทำให้มาร์จิ้นการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมลดลง แม้ว่ามีปริมาณการจำหน่ายไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ส่วนปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลดลงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผลการดำเนินงาน GPSC ในไตรมาส 2/2565 ปรับตัวดีขึ้น หลังจากรัฐประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) 2 ครั้ง จาก -15.32 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้มาร์จิ้นจากการขายไฟฟ้าให้โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น กอปรกับการเปิดประเทศ หนุนความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นด้วย และบริษัทรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าโกลว์ พลังงาน ระยะที่ 5 ที่กลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2565 ด้วย


OR ยอดขายน้ำมันพุ่งรับเปิดประเทศ

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2565 ของ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) มีรายได้จากการขายและบริการ 177,291 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 49% และมีกำไรสุทธิ 3,845 ล้านบาท ลดลง 3.9% จากไตรมาส 1/2564 ที่มีกำไรสุทธิ 4,003.20 ล้านบาท โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ขายของทั้งกลุ่มธุรกิจ Mobility และกลุ่มธุรกิจ Global เพิ่มขึ้น

คาดว่าไตรมาส 2/2565 ปริมาณการขายน้ำมันของ OR เติบโตขึ้นสอดรับการเปิดประเทศ โดยช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 5%

ดังนั้น แนวโน้มในไตรมาส 2/2565 ของกลุ่ม ปตท.รายได้ยังเติบโตต่อเนื่อง และกำไรรวมอาจใกล้เคียงไตรมาส 1/2565 ที่มีกำไรรวมอยู่ที่ 53,144 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันยังยืนอยู่ระดับสูงเฉลี่ย 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่ม ปตท.จะมีรายได้และกำไรเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะ ปตท.สผ. และไทยออยล์ที่ยังมีผลการดำเนินงานโดดเด่น


กำลังโหลดความคิดเห็น