จากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหวังสกัดภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเงินบาทมีการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีกในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ผนวกกับสงครามรัสเซียและยูเครนยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติเมื่อใด ทำให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง
จากปัจจัยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนี้ ภาคเอกชนต้องวางแผนพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นและรักษาสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่ง ควบคู่กับการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (PTT) ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทย ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ เมื่อเกิดสงครามรัสเซียกับยูเครน ทางปตท.ออกมายืนยันหนักแน่นว่าไทยจะไม่เกิดปัญหาน้ำมันขาดแคลนแน่นอน เพราะมีธุรกิจเทรดดิ้งในเครือปตท.ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดหาน้ำมันดิบจากแหล่งต่างๆ เข้าป้อนให้โรงกลั่นน้ำมันในประเทศ รวมทั้งประเทศไทยพึ่งพาน้ำมันดิบจากรัสเซียน้อยมาก ส่วนราคาน้ำมันดิบที่นำเข้ามาคงต้องว่าไปตามตลาดโลก แต่ก็มี บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) เข้ามามีบทบาทบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนได้ระดับหนึ่งโดยชะลอการขึ้นราคาน้ำมันหน้าปั๊ม
ส่วนปัจจัยลบด้านภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนนั้น ทาง ปตท.มีการวางแผนบริหารจัดการทางการเงินเพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อความต้องการใช้ตามแผนการลงทุน รวมทั้งสำรองเพื่อการลงทุนใหม่ที่เข้ามา รวมทั้งการสนับสนุนด้านการเงินบริษัทลูกในเครือ ปตท.เพื่อให้บรรลุเป้าหมายวิสัยทัศน์ "Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต"
ดังนั้น ปตท.ได้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2565 ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (ไม่รวมบุคคลธรรมดา) ประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 3 รุ่น ได้แก่ หุ้นกู้รุ่นอายุ 3 ปี 5 ปี 6 เดือน และ 12 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ ที่ 1.79% 2.45% และ 3.47% ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งการออกหุ้นกู้ครั้งนี้เพื่อใช้ในการลงทุน และ/หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไป และ/หรือเพื่อทดแทนเงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระ
ล่าสุดเร็วๆ นี้ ปตท.เตรียมออกและเสนอขายหุ้นกู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป อายุหุ้นกู้ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี เปิดจองซื้อให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้เดิม (รุ่น PTTC20NA, PTTC21NA และ PTTC21NB) ระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2565 และประชาชนทั่วไประหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคม 2565
การออกหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นการจัดหาเงินเพื่อใช้ในการลงทุน เป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือเพื่อทดแทนเงินกู้ที่ครบกำหนด โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าลงทุนในหุ้นกู้ ปตท. หลังจากได้ออกหุ้นกู้เมื่อต้นเมษายนที่ผ่านมา เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่
นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปีนี้เป็นช่วงที่ ปตท.มีการลงทุนใหม่ (Reinvest) จะเห็นได้จากแผนการลงทุน 5 ปีนี้ ปตท.ตั้งงบลงทุนไว้ 340,197 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนตามแผนงานที่ได้รับอนุมัติแล้ว 102,165 ล้านบาท ใช้ในหน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 45 ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 20 ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ร้อยละ 2 ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ ร้อยละ 8 และการลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ร้อยละ 25
งบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้าอีกจำนวน 238,032 ล้านบาท ตามกรอบวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาด ประกอบด้วย การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน มีการวางเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ซึ่งจะเป็นการผนึกความร่วมมือกันระหว่าง ปตท. กับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ผ่านบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด หรือ GRP
รวมทั้งลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โดยบริษัทย่อย “อรุณพลัส” ได้ร่วมทุนกับบริษัท Foxconn ตั้งบริษัทร่วมทุน HORIZON PLUS สร้างโรงงานฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร คาดว่าจะตัดสินใจลงทุนครั้งสุดท้าย (FID) ในไตรมาส 2 นี้ และจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2567 รวมทั้งยังได้ร่วมทุนกับ GPSC ตั้งบริษัทร่วมทุน "นูออโว พลัส" เพื่อลุยลงทุนในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ (Battery Value Chain) รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตามกลยุทธ์ New S-Curve ของกลุ่ม ปตท. ตลอดจนการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน (Transition Fuel) โดยมุ่งเน้นในการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติและการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
นอกจากนี้ ได้ขยายการลงทุนในธุรกิจอื่นนอกเหนือจากพลังงาน ทั้งธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ (Life science) ทั้งยา Nutrition อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ รวมถึงธุรกิจโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศ
ขณะเดียวกัน ปตท.มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระคืนในช่วง 5 ปีนี้รวม 85,300 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทจึงได้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 เพื่ออนุมัติแผนการจัดหาเงินกู้ของ ปตท. ซึ่งรวมถึงวงเงินการกู้ยืม และ/หรือการก่อหนี้ของบริษัทย่อย ในวงเงินเทียบเท่า 200,000 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2565-2569) เพื่อใช้ลงทุนตามแผน 5 ปี และเป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไป และ/หรือเพื่อทดแทนเงินกู้เดิมที่ครบกําหนดชําระ
การทยอยออกหุ้นกู้ในช่วงนี้ นอกจากเป็นการจัดหาเงินลงทุนตามแผนการใช้เงินแล้ว ส่วนหนึ่งเพื่อใช้สนับสนุนบริษัทในเครือ เช่น วงเงินสินเชื่อทางการค้า ซึ่งจากภาวะน้ำมันอยู่ในราคาที่สูง ทางกลุ่ม ปตท.มีโครงการ PROJECT ONE ทาง ปตท.เป็นผู้จัดหาน้ำมันดิบให้บริษัทในเครือ โดย ปตท.ได้ขยายเทอมการชำระหนี้ให้บริษัทลูกจากเดิม 30 วัน เป็น 60-90 วัน แล้วแต่กรณี จึงจำเป็นต้องมีเงินหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องด้วย
สำหรับบริษัทในเครือ ปตท.เองก็วางแผนรับมือปัจจัยอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเช่นกัน โดยมีการทยอยออกหุ้นกู้มาตั้งแต่ปลายปี 2564 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องรองรับแผนการลงทุนขยายธุรกิจ และการชำระคืนหนี้ รวมทั้งสำรองเงินไว้ในช่วงสถานการณ์ความไม่แน่นอนสูงทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการเงิน โดยอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้เหล่านี้ส่วนใหญ่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ปิดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เริ่มจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. ได้มีการเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัลให้แก่ประชาชนทั่วไป มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาทเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นหุ้นกู้ระยะยาวชนิดระบุชื่อผู้ถือไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อายุ 5 ปี ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2569 ด้วยอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเริ่มต้นที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี และสูงสุดที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 2.25 ต่อปี นับเป็นการซื้อขายหุ้นกู้ด้วยระบบดิจิทัลวอลเล็ต “ครั้งแรกในเอเชีย”
นอกจากนี้ บริษัท ปตท.สผ. ศูนย์บริหารเงิน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เสนอขายหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ มูลค่า 12,000 ล้านบาท ให้แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 แบ่งออกเป็น 3 ชุด ได้แก่ หุ้นกู้อายุ 5 ปี 7 ปี และ 10 ปี มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ที่ 2.09% 2.69% และ 3.05% ต่อปี ตามลำดับ
ด้านบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ก็ได้เสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินบาท มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาทให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ เมื่อเดือนมกราคม 2565 แบ่งเป็นหุ้นกู้อายุ 5 ปี จำนวน 14,000 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.13 ต่อปี, หุ้นกู้อายุ 7 ปี จำนวน 2,000 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.65 ต่อปี, หุ้นกู้อายุ 10 ปี จำนวน 2,000 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3.05 ต่อปี และหุ้นกู้อายุ 12 ปีจำนวน 12,000 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3.29 ต่อปี ซึ่งการออกหุ้นกู้ครั้งนี้เพื่อชำระคืนเงินกู้หรือหุ้นกู้สกุลเงินเหรียญสหรัฐที่ครบกำหนดในเดือนกันยายนนี้ และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต
รวมทั้งบริษัท จีซี ศูนย์บริหารเงิน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้เสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินเหรียญสหรัฐ ประเภทไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิ มูลค่ารวม 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 โดย PTTGC เป็นผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ทั้งจำนวน แบ่งเป็นหุ้นกู้อายุ 10 ปี จำนวน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 4.40 ต่อปี และหุ้นกู้อายุ 30 ปี จำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 5.20 ต่อปี เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้กับบริษัทปตท.ศูนย์บริหารเงิน จำกัด เงินกู้สถาบันการเงินและการกู้ยืมแก่บริษัท
โดย PTTGC ได้มีการกู้ยืมสถาบันการเงินและปตท.ศูนย์บริหารเงินเพื่อเข้าซื้อหุ้นสามัญใน Allnex Holding GmbH ผู้ผลิต Coating Resins รายใหญ่ของโลก ด้วยมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4,002.2 ล้านยูโร หรือเทียบเท่ามูลค่าประมาณ 148,417 ล้านบาท
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) มีแผนเสนอขายหุ้นกู้ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จำนวน 5 รุ่น ให้แก่ ผู้ลงทุนทั่วไป ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ประกอบด้วยหุ้นกู้อายุ 5 ปี เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป อัตราดอกเบี้ย 3.10% ต่อปี และหุ้นกู้อายุ 4 ปี 7 ปี 10 ปี และ 12 ปี เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยหุ้นกู้อายุ 7 ปี เป็นหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือกรีนบอนด์ ซึ่งจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยและมูลค่าการออกหุ้นกู้ของหุ้นกู้ทั้ง 4 รุ่นที่เหลือในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565
ส่วนบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)(OR) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ที่ยังไม่มีแผนออกหุ้นกู้ในช่วงนี้ เนื่องจากไทยออยล์อยู่ระหว่างการเตรียมการเพิ่มทุนจดทะเบียนไม่เกิน 275.12 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท พร้อมทั้งขายหุ้น GPSC ให้แก่ ปตท. 10.78% เพื่อนำเงินที่ได้รับราว 3 หมื่นล้านบาทไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) จากการเข้าลงทุนในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) บริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมีสายโอเลฟินชั้นนำของอินโดนีเซีย ซึ่งจะช่วยลดอัตราส่วนระหว่างหนี้สินสุทธิต่อทุนให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิน 1 เท่า
ขณะที่ OR ยังมีสภาพคล่องเหลือเพียงพอจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทำให้ได้เงินราว 5.39 หมื่นล้านบาทมาใช้ในการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เช่นเดียวกับ GPSC ที่ยังไม่มีแผนเพิ่มทุนในช่วงนี้
การทยอยออกหุ้นกู้ของกลุ่ม ปตท.ตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานี้ พบว่ามียอดมูลค่าวงเงินรวมแล้วทะลุ 110,000 ล้านบาท และภายในปีนี้กลุ่ม ปตท.ยังมีแผนการออกหุ้นกู้เพิ่มเติมอีกเพื่อเพิ่มสภาพคล่องรองรับแผนการลงทุนในปัจจุบันและโอกาสการลงทุนที่จะเข้ามาในอนาคต เนื่องจากช่วง 1-2 ปีนี้เป็นช่วงการลงทุนของกลุ่ม ปตท.ที่มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำที่สุด ตามแนวทางการบริหารการเงินเพื่อรับมือความเสี่ยงจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นในอนาคต