xs
xsm
sm
md
lg

RATCH แจงกำไร Q1/65 อยู่ที่ 1.58 พันล้าน ลดลง 24% เคาะราคาขายหุ้นเพิ่มทุนสุดท้าย 34.48 บาท/หุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราช กรุ๊ป แจงกำไรสุทธิในไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 1,579 ล้านบาท ลดลง 24.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่รายได้โตขึ้น 109% มั่นใจ 3 ไตรมาสที่เหลือปีนี้ทำรายได้โตขึ้นไม่ต่ำกว่า 100% เนื่องจากรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าที่อินโดทั้งไพตันและเรียว โรงไฟฟ้าลมที่ออสเตรเลีย รวมโรงไฟฟ้าใหม่จากการทำ M&A พร้อมประกาศราคาขายหุ้นเพิ่มทุนสุดท้ายที่ 34.48 บาท/หุ้น อัตราส่วนการเสนอขาย 2 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ กำหนดระยะเวลาจองซื้อหุ้นตั้งแต่วันที่ 6-10 มิถุนายนนี้ คาดได้เงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนราว 2.5 หมื่นล้านบาท ช่วยเสริมขีดความสามารถของบริษัทฯ แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2565 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,579.36 ล้านบาท ลดลง 24.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,087.86ล้านบาท เป็นผลมาจากการตัดจำหน่าย ค่าธรรมเนียมเงินกู้เดิมทั้งจำนวนจากการ Refinance 225.73 ล้านบาท และการบันทึกภาษีเงินได้รอตัดบัญชีของ Fareast Renewable Development Pte. Ltd. (FRD) จำนวน 337.70 ล้านบาท โดยทั้งสองรายการเป็นการรับรู้ตัวเลขทางบัญชีเท่านั้นโดยไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดของกลุ่มบริษัทฯ

ในไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 18,249.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 109.7% ที่มีรายได้รวม 8,701.32 ล้านบาท มาจากรายได้ค่าพลังงานไฟฟ้าของ RG เพิ่มขึ้น จากการที่โรงไฟฟ้าเดินเครื่องด้วยก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเตา และน้ำมันดีเซล มากกว่างวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามแผนการเรียกรับไฟฟ้าของ กฟผ. และรายได้ค่าขายไฟฟ้าของ RAC ที่เพิ่มขึ้นจากการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าพลังงานลม Collector เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2564

รวมถึงรับรู้รายได้ของบริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) (SCG) และ Fareast Renewable Development Pte. Ltd. (FRD) จากเข้าซื้อหุ้นเพิ่มในโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน อินโดนีเซีย และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว อินโดนีเซีย เมื่อไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ขณะที่ต้นทุนขายและการให้บริการ 15,494.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น153.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้นมาจากการเดินเครื่องที่เพิ่มขึ้นและราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นตามสถานการณ์ตลาดโลก ประกอบกับต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมที่จะดำเนินการระดมทุนเพิ่มอีก 25,000 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 บริษัทฯ ได้กำหนดจำนวนหุ้นที่เสนอขายสุดท้าย 725,000,000 หุ้น ราคาเสนอขายต่อหุ้นสุดท้าย 34.48 บาท และอัตราส่วนการเสนอขายหุ้นสุดท้าย 2 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นสามัญใหม่ กำหนดระยะเวลาจองซื้อหุ้นตั้งแต่วันที่ 6-10 มิถุนายนนี้ เงินทุนที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำไปใช้รองรับการขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่วางแผนไว้ปีละ 700 เมกะวัตต์ และธุรกิจนอกการผลิตไฟฟ้าปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท รวมทั้งนำไปใช้ปรับโครงสร้างเงินทุน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินด้วย

“ในปีนี้บริษัทฯ จะมีโรงไฟฟ้าจำนวน 5 แห่ง กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 1,166.58 เมกะวัตต์ เข้ามาเสริมรายได้ของบริษัทฯ ให้แข็งแกร่ง โดย 2 แห่งได้เดินเครื่องเชิงพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 145.15 เมกะวัตต์ ในอินโดนีเซีย เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ สร้างรายได้ให้บริษัทฯ แล้ว จำนวน 86.45 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 45.08 เมกะวัตต์ เดินเครื่องเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2565 บริษัทฯ คาดหวังว่าการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนไพตัน ในอินโดนีเซีย หากดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้จะช่วยให้รายได้ของบริษัทฯ แข็งแกร่งยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนการลงทุนโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติม ล่าสุดโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4A และ 4B กำลังการผลิตติดตั้งรวม 355 เมกะวัตต์ ใน สปป.ลาว ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการฯ และคาดว่าจะสามารถลงนามในบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ในเร็วๆ นี้ โครงการนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภท Reservoir มีอายุสัญญา 27 ปี ปริมาณเสนอขายไฟฟ้าให้ กฟผ. 347.30 เมกะวัตต์ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2576 นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ลาวเพื่อขายไฟฟ้าให้กับเวียดนามด้วย

ส่วนธุรกิจนอกภาคการผลิตไฟฟ้า บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการลงทุนในธุรกิจบริการสุขภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาคาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้


นางสาวชูศรีกล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 2-4 ปีนี้จะเติบโตขึ้นในระดับใกล้เคียงไตรมาส 1/2565 หรือโตขึ้นไตรมาสละ 100% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการรับรู้รายได้ของโรงไฟฟ้าพลังงานลม Collector โรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟราช เอ็นเนอร์จี ระยอง โรงไฟฟ้าไพตันที่อินโดนีเซีย โรงไฟฟ้าสหโคเจนฯ รวมทั้งโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้ามาจากการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A)

ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาทำ M&A โรงไฟฟ้า 5 โครงการที่คาดว่าจะทยอยเข้ามาในไตรมาส 2-4 นี้ ส่งผลให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ปีละ 700 เมกะวัตต์

ปัจจุบันบริษัทฯ รับรู้กำลังการผลิตตามการถือหุ้นรวม 9,203.77 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้ร้อยละ 59 เป็นกำลังการผลิตภายในประเทศไทยหรือประมาณ 5,425.55 เมกะวัตต์ และร้อยละ 41 หรือ 3,778.22 เมกะวัตต์เป็นกำลังการผลิตในต่างประเทศ สำหรับกำลังการผลิตจำแนกตามประเภทเชื้อเพลิง ประกอบด้วย เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล 7,844.03 เมกะวัตต์ และเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน 1,359.74 เมกะวัตต์

สำหรับโรงไฟฟ้าที่กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปีนี้ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว อินโดนีเซีย กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 145.15 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าผู้ผลิตรายเล็กเน็กส์ซิฟ ราช เอ็นเนอร์จี ระยอง 45.08 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วิน เวียดนาม 15.16 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่นส่วนขยาย 31.19 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนไพตัน อินโดนีเซีย 930 เมกะวัตต์


กำลังโหลดความคิดเห็น