สถาบันการบินพลเรือนผ่านการตรวจประเมินมาตรฐานการฝึกอบรม 12 หัวข้อจาก ICAO คงมาตรฐานสามารถจัดการอบรมหลักสูตรของ ICAO และหลักสูตรของ สบพ. ในโครงการ TRAINAIR PLUS ต่อไปได้อีก 3 ปี โดยประเมินรอบหน้า พ.ศ. 2567
นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมให้การต้อนรับ Mr. Hervé Touron, Head of Training Assessments and Consultancy Unit, Global Aviation Training (GAT) ในการเดินทางมาตรวจประเมินมาตรฐานการฝึกอบรม รอบปี 2565 (Reassessments) จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในฐานะที่เป็นสมาชิกระดับ Regional Centres of Excellence (RTCEs) โครงการ ICAO TRAINAIR PLUS ระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2565 ณ สถาบันการบินพลเรือน กรุงเทพฯ และศูนย์ฝึกการบิน หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
สำหรับการตรวจประเมินในครั้งนี้ สบพ.ได้จัดเตรียมการบรรยายสรุปภารกิจในภาพรวมขององค์กร และรายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงการเข้าเยี่ยมการทำงานของกองวิชาต่างๆ ห้องปฏิบัติการเรียนการสอน ตลอดจนอาคารสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยผู้ตรวจประเมินได้พิจารณาหัวข้อการตรวจประเมิน Protocol Questions จากกองวิชา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 12 หัวข้อหลัก ดังนี้
1. Approval of the Training Organization, 2. Training and Procedures Manual Structure 3. Organization Structure 4. Training Programmes, 5. Facilities & Equipmemt, 6. Personnel, 7. Records Management, 8. Flight Training, 9. Course Development 10. Quality 11. Safety Management และ 12. Aviation Intelligent
จากนั้นเป็นการสรุปข้อมูลและประมวลผลการตรวจประเมินในเบื้องต้นจากผู้ตรวจประเมิน รวมถึงแผนการดำเนินงานในอนาคตของโครงการ TRAINAIR PLUS ซึ่งผลการตรวจประเมินในครั้งนี้ สบพ.มีผลการดำเนินงานผ่านการตรวจประเมินเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างสูง โดยได้รับผลการประเมินผ่าน (เป็นวาระที่ 4) จึงทำให้ สบพ.สามารถคงสถานะสมาชิกโครงการ ICAO TRAINAIR PLUS สามารถจัดการอบรมหลักสูตรของ ICAO และหลักสูตรของ สบพ.ที่พัฒนาไว้แล้วในโครงการ TRAINAIR PLUS ต่อไปได้อีก 3 ปี ก่อนจะมีการตรวจประเมินตามรอบครั้งถัดไปในปี พ.ศ. 2567
นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน ได้กล่าวชมเชยความทุ่มเทของเพื่อนพนักงาน สบพ. จากการร่วมแรงร่วมใจในครั้งนี้ นับเป็นเรื่องน่ายินดีและนำความภาคภูมิใจมาให้ชาว สบพ.และประเทศไทย ในฐานะที่เป็นสถาบันหลักในการผลิตและพัฒนาบุคลากรการบินของประเทศที่มีมาตรฐานสากล สามารถผลิตบุคลากรการบินที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเข้าไปปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ และขอให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องยังคงรักษาคุณภาพ และมาตรฐานของการฝึกอบรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการบินให้แก่ประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางผลิตบุคลากรด้านการบินในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกต่อไป