กรมทางหลวงเร่งขยาย 4 ช่องจราจร ทล.4009 สายสุราษฎร์ธานี-อ.อ่าวลึก ตอน บ.ซอยสิบ-อ.บ้านนาสาร 23 กม. งบกว่า 1.1 พันล้านบาท คืบหน้ากว่า 50% คาดเสร็จใน พ.ค. 66 เพิ่มความปลอดภัย หนุนเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวไทย
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักก่อสร้างทางที่ 1 อยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการขยายทางหลวงหมายเลข 4009 สาย สุราษฎร์ธานี-อ.อ่าวลึก ตอน บ.ซอยสิบ-อ.บ้านนาสาร ระยะทางรวม 23 กิโลเมตร ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้มีขนาด 4 ช่องจราจร โดยใช้งบประมาณ 1,113.164 ล้านบาท ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้ากว่า 50% คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือน พ.ค. ปี 2566
โดยโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4009 สาย สุราษฎร์ธานี-อ.อ่าวลึก ระหว่าง กม.18+000-กม.41+000 ระยะทางรวม 23 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ในพื้นที่โรงเรียนบ้านซอยสิบ ต.ขุนทะเล อ.เมืองสุราษฎร์ธานี สิ้นสุดที่ อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี โดยขยายจาก 2 ช่องจราจรเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไปกลับข้างละ 2 ช่องจราจร) ผิวทางเป็นแอสฟัลต์คอนกรีต ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางชนิดเดียวกับผิวทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร ด้านในกว้าง 0.70 เมตร และก่อสร้างบริเวณทางแยกผิวทางเป็น Concrete Pavement หนา 25 เซนติเมตร ผิวจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร
มีเกาะกลางแบบยก (Raised Median) และแบ่งช่องจราจรด้วยแบริเออร์คอนกรีตแบบฐานแผ่สองด้าน (Barrier Type II) รวมงานก่อสร้างสะพานคอนกรีตข้ามคลอง 6 แห่ง และก่อสร้างศาลาทางหลวงในบริเวณสองข้างทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนจำนวน 21 แห่ง พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดสายรวมทั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยต่างๆ ตามมาตรฐานกรมทางหลวง
ทั้งนี้ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4009 สายสุราษฎร์ธานี-บรรจบทางหลวงหมายเลข 4 (อ่าวลึก) ตลอดสายมีระยะทางรวมประมาณ 145 กิโลเมตร โดยเส้นทางอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ 114 กิโลเมตร อยู่ในจังหวัดกระบี่ประมาณ 31 กิโลเมตร
มีจุดเริ่มต้นจากสี่แยกแสงเพชร อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตัดขึ้นไปทางใต้ผ่านอำเภอบ้านนาสาร อำเภอเวียงสระ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอปลายพระยา และอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ สิ้นสุดที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมไปสู่จังหวัดพังงา ภูเก็ต และผ่านแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น ถ้ำขมิ้น อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ฯลฯ
โดยหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะเติมเต็มโครงข่ายระบบคมนาคมให้สมบูรณ์ เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มสูงขึ้น ยกระดับความปลอดภัยทางถนน ช่วยอำนวยความสะดวกปลอดภัยให้ประชาชนในการเดินทาง เนื่องจากโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงสายหลักที่สำคัญในการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงสายหลักเพื่อช่วยกระจายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน