SCC ปรับเป้าหมายรายได้จากการขายปี 2565 โตกว่าเดิมที่ตั้งไว้ 10% เหตุราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นสะท้อนต้นทุนวัตถุดิบและราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจอาเซียนฟื้นตัวหลังจากเปิดประเทศ
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เปิดเผยว่าบริษัทคาดรายได้จากการขายในปี 2565 จะเติบโตสูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 10% จากปีก่อน เนื่องจากราคาขายสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งวัตถุดิบและราคาพลังงาน อันสืบเนื่องจากความขัดแย้งจากยุโรปตะวันออก ส่วนในแง่ปริมาณการขายยังไม่มั่นใจว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้การใช้ลดลง
ขณะเดียวกัน การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของไทยและประเทศในอาเซียนจะทำให้การบริโภคฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งจีนที่มีการล็อกดาวน์บางเมืองใหญ่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว แต่เชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวนี้จะคลี่คลายในไม่ช้า
นอกจากนี้ เพื่อลดผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น บริษัทเน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้พลังงานชีวมวลเพิ่มขึ้น เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง และลงทุนในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) มากขึ้น รวมถึงการกระจายความเสี่ยงผ่านการหาแหล่งวัตถุดิบใหม่มากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าหากความขัดแย้งในยุโรปตะวันออกรุนแรงขึ้น บริษัทจะสามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้ และทำอย่างไรให้ต้นทุนยังสามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งไทย และอาเซียนโชคดีที่อยู่ห่างจากสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว
นายรุ่งโรจน์กล่าวถึงผลกระทบจากกรณีรัฐบาลลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลลง ทำให้ต้นเดือน พ.ค.นี้ราคาน้ำมันดีเซลจะปรับขึ้นมา 2 บาท/ลิตร ว่า ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลในไทยไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนักเท่าราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งการขยับราคาดีเซลในต้นเดือนพ.ค.นี้ทางภาครัฐจะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นภาคเอกชนจะต้องปรับตัว มีการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนการขึ้นราคาสินค้าเพื่อสะท้อนต้นทุนพลังงานจะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับตลาดว่าจะรับได้หรือไม่
ส่วนความคืบหน้าการลงทุนโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP 2) ประเทศเวียดนาม ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของการศึกษาและออกแบบ เบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุปว่าจะดึงพันธมิตรใหม่เข้ามาเพิ่มเติมหรือไม่ ขณะที่ LSP 1 ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 93% คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิต (COD) ได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ได้ตามแผน
นายรุ่งโรจน์กล่าวยืนยันว่า บริษัทยังคงแข็งแกร่งทั้งในไทยและต่างประเทศ แม้ต้องเผชิญภาวะต้นทุนสูงขึ้น จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งบริษัทรับมือกับสภาวะดังกล่าว โดยเร่ง 4 กลยุทธ์รุกไว ลุยตลาดโลก ได้แก่ 1.) บริหารจัดการธุรกิจเชิงรุก 2.) ส่งมอบนวัตกรรมรับเทรนด์ทันท่วงที 3.) เดินหน้าลงทุนรับโอกาสตลาดโลกโต 4.) เร่ง ESG (Environmental, Social, Governance) สร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจ เพื่อการเติบโตระยะยาว
ซึ่งการบริหารจัดการธุรกิจเชิงรุก ปรับตัวไวพร้อมความยืดหยุ่น ปิดความเสี่ยงจากต้นทุนพลังงาน-วัตถุดิบพุ่งสูง และความไม่แน่นอนที่อาจยาวต่อเนื่องใน 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการติดตามราคาพลังงานต่อเนื่องและเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อลดต้นทุน โดยไตรมาสที่ 1 ปี 2565 มีสัดส่วนการใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะ RDF เท่ากับร้อยละ 16.4 โดยมีการใช้พลังงานชีวมวลสำหรับการผลิตซีเมนต์ในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 30.4, จัดการปริมาณสินค้าคงคลัง (Inventory) ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความต้องการ
ขณะเดียวกัน ก็ดำเนินการส่งมอบนวัตกรรมรับเทรนด์ทันท่วงที คว้าโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศ ผ่านนวัตกรรม สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม ( HVA) เพื่อรุกตลาดไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดี ควบคู่กับการเดินหน้าลงทุนรับโอกาสตลาดโลกโต ล่าสุดบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) (SCGC) ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 เพื่อระดมทุนเดินหน้าขยายธุรกิจศักยภาพสูง สร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน ตอบโจทย์ตลาดโลกและความยั่งยืนไปพร้อมกัน
รวมทั้งเร่ง ESG (Environmental, Social, Governance) สร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจ ด้วยแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero - Go Green - Lean เหลื่อมล้ำ - ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเป็นธรรม โปร่งใส) โดยเอสซีจีเดินหน้าตามแผนงานเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 และลดลงอย่างน้อยร้อยละ 20 ในปี 2573 (จากปีฐาน 2563)
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 152,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจและมีกำไรสำหรับงวด 8,844 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 41 จากปีก่อนที่มีกำไร 14,914 ล้านบาท สาเหตุหลักจากต้นทุนวัตถุดิบของธุรกิจเคมิคอลส์ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีผลประกอบการที่ดีกว่าปกติ เนื่องจากมีวิกฤตฤดูหนาวที่รุนแรงในสหรัฐอเมริกาส่งผลให้อุปทานมีอยู่อย่างจำกัดทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีผลประกอบการที่ดีกว่าปกติ