SCCวางแผนรับมือราคาพลังงานผันผวนสูงจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ชี้ธุรกิจเคมิคอลส์ได้รับผลกระทบมากสุดจากราคาพลังงานพุ่ง มั่นใจไม่กระทบโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์LSPที่เวียดนามที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ในครึ่งหลังปีนี้ เหตุความต้องการใช้ในเวียดนามสูงกว่ากำลังผลิตของLSPกว่าเท่าตัว
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นมากจากความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในเครือบริษัท โดยเฉพาะธุรกิจเคมีคอลส์ ที่ได้รับผลกระทบมากาุดจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบคือแนฟทา ซึ่งปรับขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน โดยธุรกิจเคมิคอลส์มีต้นทุนพลังงานมีสัดส่วนถึง70-80%ของต้นทุนรวม ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีต้นทุนพลังงานอยู่ที่ 20% ของต้นทุนรวม ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีต้นทุนพลังงานอยู่ที่ 5% ของต้นทุนรวม
บริษัทได้ดำเนินการรับมือกับสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน รวมถึงติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะมีวัตถุดิบและพลังงานเพียงพอต่อการผลิตสินค้าและบริการ พร้อมทั้งบริหารต้นทุนให้ดีที่สุด รวมทั้งการบริหารจัดการสินค้าคงคลังทั้งวัตถุดิบและสินค้าให้อยู่ในปริมาณที่ต่ำ รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือก เช่นพลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะในโรงปูนซีเมนต์ หรือพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิลทั้งน้ำมันและถ่านหินที่มีราคาสูง และสอดรับกับแผนESG (Environmental, Social, Governance) ที่บริษัทวางเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593
นอกจากนี้ บริษัทได้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่ม และมีการบริหารทางการเงินเพื่อเตรียมพร้อมรับมือความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่างโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ Long Son Petrochemicals ( LSP)ที่ประเทศเวียดนามได้มีการจัดสรรเงินกู้เรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบันโครงการLSPได้ดำเนินการก่อสร้างไปกว่า90%และเตรียมทดสอบเดินเครื่องจักร คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงงานปิโตรเคมีขั้นปลายช่วงครึ่งหลังปี2565 ส่วนโรงโอเลฟินส์จะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปลายปีนี้
ทั้งนี้ โครงการ LSP มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์อยู่ที่ 1.35 ล้านตันต่อปี และโพลิโอเลฟินส์(ปิโตรเคมีขั้นปลาย)อยู่ที่ 1.4 ล้านตันต่อปี จากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากโครงการLSP ปรับสูงขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามโรงโอเลฟินส์ได้ออกแบบการผลิตให้ยืดหยุ่นการเลือกใช้วัตถุดิบระหว่างแนฟทาและก๊าซฯได้ 30% ทำให้ลดต้นทุนการผลิตรองรับการแข่งขันในตลาดเวียดนาม
นอกจากนี้ ภาพรวมตลาดปิโตรเคมีในเวียดนามมีความต้องการใช้ภายในประเทศเวียดนามสูงถึง 3.2-3.5ล้านตันต่อปี ขณะที่โครงการLSP เป็นผู้ผลิรายใหญรายเดียว มีกำลังการโพลิโอเลฟินส์ 1.4ล้านตันต่อปี ทำให้เวียดนามยังต้องนำเข้าเม็ดพลาสติกจำนวนมาก จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่บริษัทมีแผนพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มเติมในเวียดนามประกอบด้วย การขยายโครงการ LSP ระยะที่ 2 หรือ LSP2 ที่จังหวัดบ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่า ทางตอนใต้ของเวียดนาม และโครงการขยายกำลังการผลิต (debottlenecking) ที่ LSP เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศเวียดนาม รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน
โดยโครงการ LSP2 บริษัทจะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการดำเนินงาน และเดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products and Services - HVA) เช่น เอสซีจี กรีน พอลิเมอร์ (SCG GREEN POLYMERTM) หรือนวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยโครงการ LSP2 ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับโครงการ LSP จึงมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการขยายโรงงาน ทั้งนี้ จะดำเนินการยื่นเรื่องขออนุญาตอย่างเป็นทางการในลำดับถัดไป