ไทยออยล์แย้มเจรจา SCC เพื่อหาโอกาสร่วมมือทางธุรกิจรวมถึงการเข้าลงทุนในโครงการปิโตรเคมีครบวงจร LSP ในเวียดนามหวังต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมี จ่อขายหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 239 ล้านหุ้นให้ PO ในไตรมาส 3 นี้ หลังบันทึกกำไรจากการขายหุ้น GPSC ให้ปตท.ราว 1.1 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2/2565
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับทางบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เพื่อหาโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจในประเทศเวียดนาม รวมไปถึงการเข้าลงทุนในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ Long Son Petrochemicals (LSP) ที่ประเทศเวียดนาม เพื่อต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าการร่วมลงทุนจะเป็นในรูปแบบใด
ทั้งนี้ โครงการปิโตรเคมี LSP มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์อยู่ที่ 1.35 ล้านตันต่อปี และโพลิโอเลฟินส์อยู่ที่ 1.4 ล้านตันต่อปี โครงการนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 90% คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้บางส่วนในปี 2565 และดำเนินการเต็มรูปแบบในต้นปี 2566 ล่าสุด SCC มีแผนที่จะขยายโครงการ LSP ระยะที่ 2 หรือ LSP2 ที่จังหวัดบ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่า ทางตอนใต้ของเวียดนาม และโครงการขยายกำลังการผลิต (debottlenecking) ที่ LSP เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศเวียดนาม รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน
นายวิรัตน์กล่าวต่อไปว่า บริษัทได้เข้าไปถือหุ้น 15% ใน PT Chandra Asri Petrochemical (CAP) บริษัทปิโตรเคมีครบวงจรรายใหญ่ในอินโดนีเซียเมื่อปี 2564 ขณะที่ SCC ถือหุ้นใน CAP อยู่ก่อนแล้วที่ 30.57% ทำให้ทั้งบริษัทและ SCC มีโอกาสร่วมมือทางธุรกิจนอกเหนือจากการลงทุนร่วมกันในอินโดนีเซีย
สำหรับแผนการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาวของบริษัทนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังจากบริษัทเข้าถือหุ้นใน CAP ถือเป็นก้าวแรกในการรุกเข้าสู่ธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ ส่งผลให้โครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมีของไทยออยล์ครอบคลุมทั้งสายอะโรเมติกส์และสายโอเลฟินส์ สร้างโอกาสในการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มและเป็นที่ต้องการของตลาด
นายวิรัตน์กล่าวว่า แนวโน้มการดำเนินงานในไตรมาส 1/2565 บริษัทได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ทำให้ภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นมีค่าการกลั่นสูงขึ้น แต่ส่งผลต่อต้นทุนปิโตรเคมีทำให้ feedstock จะปรับตัวสูงขึ้นบ้าง แต่หากมองภาพรวมแล้วคาดว่าจะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในปีนี้ คาดการณ์ว่าราคามีโอกาสปรับขึ้นไปที่ระดับ 110-115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หากสถานการณ์สงครามรัสเซียกับยูเครนยืดเยื้อ แต่หากสงครามจบเร็ว ราคาน้ำมันดิบอาจจะปรับลดลงอยู่ในระดับไม่เกิน 95-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาวเพื่อให้พร้อมรองรับการขยายธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยบริษัทขายหุ้นบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ให้ปตท. จำนวน 304 ล้านหุ้น คิดเป็น 10.78% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ GPSC เป็นมูลค่ารวมประมาณ 22,351 ล้านบาท คาดบริษัทจะบันทึกกำไรจากการขายหุ้น GPSC ในไตรมาส 2 นี้ประมาณ 11,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกันบริษัทจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering: PO) จำนวนไม่เกิน 239 ล้านหุ้น และเตรียมกรีนชูอีกจำนวนไม่เกิน 35.885 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่เสนอขายในครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถขายหุ้นเพิ่มทุนได้ภายในไตรมาส 3/2565
โดยเงินจากทั้งสองส่วนนี้จะนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้คือระยะสั้น (bridge loans) วงเงิน 3 หมื่นล้านบาทที่ใช้ในการลงทุนใน CAP ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้อัตราหนี้สินต่อทุนของบริษัทฯ ( D/E) ลดลงจาก 1.4 เท่าเหลือเพียง 1 เท่า และคงอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต (Credit rating) ให้อยู่ในเกณฑ์กลุ่มระดับลงทุน (Investment grade) ทำให้บริษัทมีศักยภาพในการลงทุนในอนาคต
ส่วนแผนการใช้เงินสำหรับโครงการ CAP โดยปี 2564 บริษัทได้จ่ายงวดแรกไปแล้ว 913 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าโครงการ CAP2 จะสามารถตัดสินใจขั้นสุดท้าย (FID) ปลายปีนี้ คาดจะใช้เงินลงทุนอีก 270 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงต้นปี 2566 รวมต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,183 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบัน CAP มีกำลังการผลิต 4.23 ล้านตันต่อปี และมีแผนก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 (CAP2) ขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวเป็น 8 ล้านตันต่อปีภายในปี 2569
สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจบริษัทเพื่อให้ก้าวสู่องค์กร 100 ปีผ่านกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน (3Vs) ได้แก่ 1. Value Maximization: Integrated Crude to Chemicals เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจปิโตรเลียมและสร้างความสามารถในการแข่งขัน ผ่านโครงการ CFP (Clean Fuel Project) และต่อยอดธุรกิจปิโตรเลียมไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและ High Value Product (HVP) ซึ่งได้เข้าลงทุนใน CAP เรียบร้อยแล้ว
2. Value Enhancement: Integrated Value Chain Management Regional investment & market playground บริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า ผ่านฐานลูกค้าในภูมิภาคที่มีอยู่เดิม กระจายผลิตภัณฑ์ตามที่ตลาดต้องการ โดยเจาะลึกในตลาดภูมิภาคที่มีความต้องการสูง พร้อมเสาะหาโอกาสในการลงทุนที่เหมาะสมในภูมิภาคเตรียมฐานลูกค้าเพื่อรองรับหลังจากโครงการ CFP แล้วเสร็จ
และ 3. Value Diversifications การกระจายการเติบโต เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง โดยมุ่งเน้นการลงทุนพลังงานทดแทน รองรับความผันผวนธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี และแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ เช่น Biofuel, Biochem, Bioplastic และ Hydrogen เป็นต้น โดยบริษัทตั้งเป้าในปี 2573 มีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียม 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% ธุรกิจไฟฟ้า 10% และธุรกิจใหม่อีก 10%