xs
xsm
sm
md
lg

จับตาเอสเอ็มอีต้นทุนผลิตพุ่งรอบด้าน หวั่น Q2 หนี้เสีย-หนี้นอกระบบปะทุหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยหวั่นหนี้เสีย หนี้นอกระบบ เอสเอ็มอีปะทุไตรมาส 2 เหตุต้นทุนการผลิตพุ่งกระฉูด ทำรายได้ไม่พอรายจ่าย แนะรัฐเร่งแก้หนี้ 3 กองได้แก่ หนี้เสีย หนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ และเติมทุนเร่งด่วนโดยจัดทำแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงทั้งหมดร่วมกันเพื่อให้เอสเอ็มอีไปต่อ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) กำลังประสบปัญหากับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งจากวัตถุดิบต่างๆ ค่าขนส่ง และต้นทุนด้านพลังงาน เช่น ค่าไฟ ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ฯลฯ ขณะที่ยอดขายกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนักเนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากทั้งโควิด-19 ภาวะเงินเฟ้อจากผลกระทบการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายที่ลดลง และบางรายยังมีภาระหนี้สินทำให้ไม่สามารถหารายได้ทันรายจ่าย จึงมีแนวโน้มว่าไตรมาส 2 ถึงกลางปีนี้เอสเอ็มอีจะเผชิญภาวะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ฟื้นตัวได้ช้าลง

ทั้งนี้ ภาครัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งเข้ามาดูแลหนี้ที่เชื่อมโยงกับเอสเอ็มอี 3 กอง ได้แก่ 1. หนี้ครัวเรือนที่มีสูงถึง 90% ของ GDP หรือกว่า 14 ล้านล้านบาท 2. หนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์กว่า 5.3 แสนล้านบาท ทั้งหนี้ชั้นกล่าวถึงพิเศษที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคตสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท และ 3. หนี้นอกระบบที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าหนี้นอกระบบของไทยคิดเป็น 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน 316,623 บาทต่อครัวเรือน) และในจำนวนนี้เป็นหนี้จากเอสเอ็มอีเช่นกัน ขณะเดียวกันหนี้กำลังจะเสีย หรือหนี้ชั้นกล่าวถึงพิเศษ และหนี้เสีย ที่จะหมดมาตรการผ่อนปรนในมิถุนายน 2565 นี้จะยิ่งกดดันปัญหาเอสเอ็มอีมากขึ้น

“รัฐควรพัฒนาแพลตฟอร์มในการดูแลหนี้เสียให้เชื่อมโยงกลไกหนี้ทั้งหมด แล้วมีพี่เลี้ยง ที่ปรึกษาในการร่วมกันพัฒนาเอสเอ็มอีและเติมทุนให้ครบวงจรเพื่อให้เขาไปต่อได้แบบยั่งยืน โดยต้องมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและแรงงานให้พัฒนาสินค้าและบริการไปสู่ยุคดิจิทัลเพื่อให้อยู่รอดในระยะยาว รวมไปถึงแก้อุปสรรคทางด้านกฎระเบียบต่างๆ ให้เอสเอ็มอี” นายแสงชัยกล่าว

นายแสงชัยกล่าวว่า ราคาดีเซลที่จะปรับขึ้นจากที่ตรึงไว้ 30 บาทต่อลิตรและอาจนำไปสู่การปรับขึ้นค่าขนส่งนั้นจะยิ่งกระทบต่อต้นทุนเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าขนส่งคิดเป็นต้นทุนการผลิตของเอสเอ็มอีค่อนข้างสูง 20-30% โดยเฉพาะเอสเอ็มอีประเภทร้านอาหาร หาบเร่แผงลอย ฯลฯ ดังนั้นการช่วยเหลือด้านต้นทุนผลิตของรัฐควรจะมีการพิจารณาตลอดห่วงโซ่การผลิตวัตถุดิบว่าการปรับขึ้นราคานั้นมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ และกรณีสินค้าต้องนำเข้าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะส่งเสริมให้เกิดการผลิตทดแทนในประเทศ เช่น อาหารสัตว์ เป็นต้น

นอกจากนี้ เห็นว่าภาครัฐควรจะพิจารณานำมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี 3.1 ล้านรายให้เข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี โดยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการจากเอสเอ็มอีที่ขึ้นบัญชีไว้กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ด้วยวงเงินไม่น้อยกว่า 30% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกลับมาใช้หมดหลังจากมาตรการนี้ได้สิ้นสุดลงไป
กำลังโหลดความคิดเห็น