xs
xsm
sm
md
lg

ไม่จบง่ายๆ! แก้สัญญา”ไฮสปีด” ติดปมที่ดินมักกะสันยืด MOU อีก 3 เดือน ส่งอัยการตีความเงื่อนไขส่งมอบพื้นที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจรจาแก้สัญญา”ไฮสปีด”ไม่จบ ยืดMOU อีก3 เดือน ปัญหาส่งมอบที่ดินมักกะสันไม่ลงตัว รฟท.ส่งหนังสือหารือ”อัยการสูงสุด”ตีความเงื่อนไขสัญญาการส่งมอบพื้นที่ และหารือข้อกฎหมายกับกฤษฎีกา คาดเลื่อนออก NTP ต้องปรับไทม์ไลน์ชำระคืนค่าก่อสร้างใหม่

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยกับผู้จัดการรายวัน360 องศา ว่า การเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือรฟท. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทาน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถหาข้อยุติในประเด็น การส่งมอบพื้นที่ได้ ซึ่งทางเอกชน ยังไม่ยอมรับการออกหนังสือเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ในเดือน พ.ค. 2565 นี้ โดยระบุว่า การส่งมอบที่ดินมักกะสัน จำนวน 150 ไร่ยังมีปัญหาบริเวณบึงเสือดำและลำรางสาธารณะ และถือว่า การส่งมอบพื้นที่ไม่ครบถ้วน

ดังนั้น จากที่รฟท.ได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท เอเชียเอราวันฯเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบ จากโควิด-19 มีกรอบเวลา 3 เดือนนับจากวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการขยายออกไปแล้ว 3 เดือน หรือถึงวันที่ 24 เมษายน 2565 นั้น จึงมีความจำเป็นต้องขยาย MOU ออกไปอีก 3 เดือน หรือถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 โดยรฟท. สกพอ.และ บริษัท เอเชียเอราวันฯได้ตกลงร่วมกันแล้ว และจะรายงานความคืบหน้าการเจรจารวมถึงการต่อ MOU อีก3 เดือนต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบต่อไป

@ส่งหนังสือถึง”อัยการสูงสุด”ตีความการส่งมอบพื้นที่ในเงื่อนไขสัมปทาน

ผู้ว่าฯรฟท.กล่าวว่า กรณีการส่งมอบที่ดินมักกะสัน จำนวน 150 ไร่นั้น ก่อนหน้านี้ รฟท.ได้ทำหนังสือ ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อหารือในประเด็นพื้นที่บึงเสือดำและลำรางสาธารณะ ว่า เป็นเงื่อนไขในการส่งมอบในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินหรือไม่ และเป็นเงื่อนไขในการออกหนังสือเริ่มงาน (NTP) หรือไม่

นอกจากนี้ ยังได้ทำหนังสือถึงกฤษฎีกา เพื่อหารือในประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อยุติในประเด็นปัญหาโดยเร็วอีกทาง เพราะรฟท.ในฐานะหน่วยงานรัฐต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ในการดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางกฎหมาย หรือตัดสินใจออก NTP ไป แล้วกลายเป็นผู้ผิดสัญญาเอง

ขณะที่ พิจารณาแล้วว่าเมื่อการเจรจายังมีประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องหาความชัดเจน การต่อ MOU ออกไปอีก 3 เดือนไม่ทำให้ รฟท.เสียหาย เนื่องจาก การให้บริการโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ยังดำเนินการไปตามปกติ ไม่มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการแต่อย่างใด

“หากบอกว่าเจรจาไม่ได้แล้ว เลิกเจรจาไม่ต่อ MOU กลับไปใช้มาตรการเดิมตามสัญญา แล้วเกิดความเสี่ยงในเรื่องการให้บริการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ก็จะไม่เป็นไปตามมติ ครม.ที่มอบหมายให้คณะกรรมการ 3 ฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหา ไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน”

นายนิรุฒกล่าวว่า ที่ผ่านมาการเจรจา แก้ปัญหา กรณีที่รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารลดลง และเอกชนไม่สามารถชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนจำนวน 10,671.090 ล้านบาท ตามสัญญาร่วมลงทุนฯ ภายในวันที่ 24 ต.ค. 2564 ได้ และเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างร่วมในพื้นที่ทับซ้อนกับ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองนั้น ใน 2 ประเด็นนี้ ได้ข้อตกลงร่วมกันแล้ว ซึ่งเหลือประเด็นเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งทางเอกชน ยังไม่ยอมรับการออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ในเดือน พฤษภาคม 2565 โดยตั้งเป้า เริ่มชำระคืนค่าก่อสร้างให้เอกชน ในเดือน 21 หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จะต้องพิจารณากรอบระยะเวลากันอีกครั้ง
โดยหากขยาย MOU ออกไปอีก 3 เดือน จะทำให้ไทม์ไลน์การชำระคืนค่าก่อสร้างต้องเลื่อนไปจากเดิมด้วย รวมถึงจะต้องไม่กระทบกรอบในเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างร่วมในพื้นที่ทับซ้อน ที่ครม.ไม่ต้องการให้เพิ่มภาระงบประมาณ ซึ่งรฟท.จะหารือกับ สกพอ. ถึงการดำเนินการและการเจรจาที่ผ่านมา เพื่อประเมินผลว่าต้องมีการปรับปรุงอย่างไรเพื่อเพิ่มความรอบคอบอีกหรือไม่ รวมถึง ร่วมกันวาง Action Plan และไทม์ไลน์ต่อจากนี้ เป็นการดำเนินการคู่ขนานในระหว่างรอผลการหารือ อัยการสูงสุดและกฤษฎีกา


@เลื่อนออก NTP จ่อปรับไทม์ไลน์ชำระคืนค่าก่อสร้างให้ ซี.พี.

แหล่งข่าวจาก รฟท.กล่าวว่า การเจรจากับบ.เอเชียเอราวันฯ มี 3 ประเด็นคือ 1.แก้ปัญหารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้ผู้โดยสารลดลง โดยแบ่งชำระค่าสิทธิร่วมลงทุน จำนวน 10,671.090 ล้านบาท เป็น 7 ปี โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย โดยหากโควิด-19 ยุติก่อนระยะเวลา 7 ปี โดยยึดประกาศจากรัฐบาล จะประเมินจำนวนผู้โดยสารในช่วง 1 ปีหลังจากนั้นแล้วจึงพิจารณาการชำระเงินที่เหลือในคราวเดียว

2.เอกชนยอมรับในการก่อสร้างโครงสร้างร่วมฯ ช่วงเส้นทางทับซ้อนระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและรถไฟไทย-จีน โดยเอกชนรับผิดชอบค่าก่อสร้างเพิ่มจำนวน 9,207 ล้านบาท โดยรฟท.ปรับเงื่อนไขการชำระคืนค่าก่อสร้าง เร็วขึ้น โดยเริ่มชำระคืนเป็นเดือนที่ 21

3. การส่งมอบพื้นที่ โดยรฟท.กำหนดไทม์ไลน์ ที่ออกหนังสือให้เริ่มงานก่อสร้าง (NTP) ภายในเดือนพ.ค. 2565 ซึ่งทางเอกชนยืนยันว่า การส่งมอบพื้นที่ จะต้องทำตามเงื่อนไขสัญญาที่ระบุ ว่า รฟท.จะต้องถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทุกแปลง 100% ก่อนที่จะส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ โดยระบุว่า ที่ดินมักกะสัน จำนวน 150 ไร่ มีปัญหาบึงเสือดำและลำรางสาธารณะ

ขณะที่ รฟท.ยืนยันว่า ปัญหาบึงเสือดำ เป็นพื้นที่ช่วยระบายน้ำเป็นแก้มลิงของกทม. ปัจจุบันพื้นที่มีสภาพแห้ง ไม่มีน้ำแต่อย่างใด โดย รฟท.ได้ดำเนินการจัดหาพื้นที่รับน้ำใหม่ให้กทม.แล้ว ดังนั้น จุดนี้จึงไม่เป็นปัญหาในการส่งมอบ ส่วนลำรางสาธารณะเนื้อที่ไม่ถึง 2 ไร่ หรือประมาณ 1% เท่านั้น ซึ่งรฟท.เห็นว่าไม่มีข้อสัญญาใดที่ระบุว่า รฟท.ต้องเพิกถอนลำรางสาธารณะ แต่ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาได้ ประสานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อปลดออกจากสถานะลำรางสาธารณะแล้ว โดยตามขั้นตอนคาดว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี แต่เอกชนไม่ยอมรับ

และเพื่อความรอบคอบทางด้านกฎหมายและเงื่อนไขสัญญา จึงส่งหนังสือหารือไปที่อัยการสูงสุดเพื่อวินิจฉัยเงื่อนไขในสัญญาร่วมลงทุนประเด็นการส่งมอบพื้นที่ในกรณีที่เป็นรำลางสาธารณะว่าในสัญญากำหนดเป็นหน้าที่ของรฟท.หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น