รฟท.เผยขนส่งสินค้าเติบโตต่อเนื่อง หลังเปิดรถไฟลาว-จีน ผู้ประกอบการไทยเร่งรัฐสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า "นาทา" ถ่วงดุลค่าบริการ แก้รอยต่อขนส่ง โอดฝั่ง สปป.ลาวขึ้นค่าบริการ "ท่านาแล้ง" เท่าตัว ด้านรฟท.เร่งปรับแผนพัฒนาสถานีหนองคาย 80 ไร่ หลังเอกชนเมินเช่าระยะสั้น 3 ปีเหตุไม่คุ้มค่า
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถไฟมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563 มีปริมาณสินค้าประมาณ 10.5 ล้านตัน ปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 11.7 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 15% และในปีงบประมาณ 2565 ช่วงไตรมาสที่ 1 (เดือน ต.ค.-ธ.ค. 2564) ปริมาณการขนส่งสินค้าเติบโตประมาณ 5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาใช้การขนส่งทางรางเพิ่มเพราะมีต้นทุนต่อ กม.ต่ำกว่าและขนส่งได้จำนวนมากต่อครั้ง
นอกจากนี้ การเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีน ยังทำให้ปริมาณสินค้าและความต้องการขนส่งทางรางเติบโต โดยเริ่มมีความต้องการขนส่งทางรถไฟเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น การขนส่งสินค้าประเภทปุ๋ยจากลาวเข้ามาไทยทางจังหวัดหนองคาย เพื่อส่งต่อไปที่โรงงานอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จำนวน 50 ตู้ต่อขบวน โดยจะทำการขนส่งแบบวันเว้นวัน หรือประมาณเดือนละ 15 ขบวน ซึ่งถือเป็นสินค้าใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากการเปิดรถไฟลาว-จีน
นอกจากนี้ รฟท.ยังมีการทดลองการขนส่งสินค้าเกษตรอีกหลายประเภท ได้แก่ ขนุน จำนวน 2 ตู้ มะพร้าว จำนวน 1 ตู้ จากสถานีวัดงิ้วลาย จังหวัดนครปฐม ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวต่อไปยังประเทศจีน รวมถึงจะเตรียมทำระบบตู้เย็นเพื่อรองรับสินค้าจากไทยส่งออกไปจีนในประเภทที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิอีกด้วย
แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นปัญหาของผู้ประกอบการไทยในขณะนี้ คือ สินค้าที่จะส่งออกหรือนำเข้าทางรถไฟจะต้องไปพักที่สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว ซึ่งเขตโลจิสติกส์ (Logistics Park) มีการปรับขึ้นค่าบริการ ทำให้ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ชะลอในการเพิ่มปริมาณการขนส่งทางราง เพราะค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเท่าตัว โดยปัจจุบันผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่จะขนส่งโดยใช้รถบรรทุกข้ามแดนมาฝั่งไทยแล้วจึงชิฟต์โหมดขึ้นรถไฟที่สถานีหนองคายเพื่อประหยัดต้นทุนลง แต่อาจจะไม่สะดวก
ผู้ประกอบการจึงขอให้รัฐบาลไทย กระทรวงคมนาคม และ รฟท.เร่งก่อสร้างย่านสินค้า “สถานีนาทา” ที่ฝั่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นจุดตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าเพื่อเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่าง “ไทย-ลาว-จีน” แบบไร้รอยต่อให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างสมดุล และเป็นทางเลือกในการให้บริการสองฝั่ง ซึ่งคาดว่าการพัฒนาสถานีนาทาให้เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคตต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปี
ในระหว่างนี้ รฟท.ได้ดำเนินการการพัฒนาบริเวณสถานีรถไฟหนองคาย จ.หนองคาย มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่เพื่อรองรับการขนส่งทางรางในระยะแรก โดยมีการประกาศเชิญชวนเอกชนเสนอราคาค่าเช่าพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์ตามศักยภาพในการทำโรงพักสินค้าสถานีหนองคาย ซึ่งแบ่งพื้นที่เป็น 4 แปลง กำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี โดยได้มีการเปิดเชิญชวน 2 ครั้งแล้ว มีเอกชนเข้าซื้อซองจำนวน 5 ราย แต่ปรากฏว่าไม่มีเอกชนรายใดมายื่นข้อเสนอ ซึ่งจากการสอบถาม เอกชนระบุว่า ระยะเวลาสัญญาเช่า 3 ปีนั้นสั้นเกินไป ไม่คุ้มค่าในการเข้ามาดำเนินการ ซึ่งสาเหตุที่รฟท.กำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี เนื่องจากต้องการให้สอดคล้องกับการก่อสร้างย่านสินค้านาทาที่จะแล้วเสร็จใน 3-5 ปี
อย่างไรก็ตาม จะเร่งพิจารณาแนวทางการพัฒนาสถานีหนองคายให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม โดยจะหารือกับกรมศุลกากรในการใช้พื้นที่ติดตั้งเครื่อง Mobile X-ray Inspection System เพื่อตรวจปล่อยสินค้าและทำพิธีการศุลกากร พื้นที่ประมาณ 10-15 ไร่ จากนั้นจะหารือกับผู้ประกอบการเอกชนอีกครั้งเพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการแบ่งพื้นที่เช่าใหม่ รวมถึงระยะเวลาเช่าที่มีความเหมาะสมต่อไป