“จุรินทร์” ถกทีมเซลส์แมนยะลา เคาะ 7 มาตรการช่วยแก้ปัญหา ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในพื้นที่ ดันสร้างห้องเย็นเก็บทุเรียน ต่ออายุโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ช่วยหาแรงงานต่างด้าว จัดมหกรรมการค้าชายแดนในงานวิ่งนานาชาติ หนุนสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย สร้างอ่างเก็บน้ำแก้น้ำท่วม และเร่งซ่อมแซมด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมทีมเซลส์แมนจังหวัดยะลา ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่โรงแรมแกรนด์แมนดาริน เบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ว่า การประชุมในวันนี้มีข้อสรุป 7 ประเด็นที่ภาคเอกชนต้องการให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ไขปัญหา ช่วยผลักดันและขับเคลื่อน เพื่อให้การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในพื้นที่มีการขยายตัวได้เพิ่มขึ้น
โดยประเด็นที่ 1 ภาคเอกชนต้องการให้ผ่อนปรนผังเมืองยะลาให้สามารถสร้างห้องเย็นเก็บทุเรียนหรือผลไม้ได้โดยสะดวกขึ้น ไม่ต้องฝากเช่าห้องเย็นที่จังหวัดอื่น เพราะปริมาณผลผลิตทุเรียนของจังหวัดยะลามีปีละ 30,000 กว่าตัน ถ้ามีห้องเย็นในพื้นที่จะรองรับผลผลิตได้ประมาณ 10,000 ตัน เมื่อประสงค์สร้างเพิ่มก็ติดเรื่องผังเมือง ซึ่งท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดรับไปประชุมหารือและจะมีคำตอบให้หอการค้าจังหวัดภายในหนึ่งเดือน
ประเด็นที่ 2 ภาคเอกชนโดยประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด เสนอขอให้ภาครัฐช่วยต่ออายุโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ และธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนใต้ในอัตรา 1.5% ต่อปี วงเงิน 25,000 ล้านบาท จะหมดอายุในปีนี้ ขอต่อไปอีก 5 ปี คือปี 2566-70 ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้มีมติให้ต่ออายุแล้วเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2565 ต่อไปจะเป็นขั้นตอนดำเนินการต่อและวงเงินยังเหลืออีก 3,000 กว่าล้านบาท
ประเด็นที่ 3 ความต้องการแรงงานต่างด้าวเมียนมาและกัมพูชา มาประกอบกิจการในจังหวัดชายแดนใต้ สำนักงานจัดหางานจังหวัดชี้แจงว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในจังหวัดชายแดนใต้แล้วตาม MoU ที่ลงนามไว้ จะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1-3 เดือน เนื่องจากเงื่อนไขที่ ศบค. กำหนดเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งภาคเอกชนพอใจแล้วว่าสามารถดำเนินการได้
ประเด็นที่ 4 การจัดงานวิ่งนานาชาติเบตงในวันที่ 6-8 พ.ค. 2565 คาดว่าจะมีนักวิ่งจากทั่วโลกเข้ามาประมาณ 1,000 คน และนักท่องเที่ยวเข้ามาอีกประมาณ 3,000-5,000 คน ประสงค์ให้กระทรวงพาณิชย์จัดกิจกรรมช่วยเสริมให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาร่วมจัดมหกรรมการค้าชายแดนและการจับคู่ธุรกิจ เพื่อซื้อขายระหว่างผู้ผลิตสินค้าที่มีศักยภาพ 60 รายการของจังหวัดชายแดนใต้กับผู้ซื้อในประเทศและต่างประเทศ ผ่านระบบการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (OBM) ต่อไป
ประเด็นที่ 5 โครงการบำบัดน้ำเสียของเทศบาลเบตง นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มาช่วยดำเนินการเบื้องต้นแล้ว ขณะนี้มีการลงนาม MoU ระหว่างองค์การจัดการน้ำเสียกับเทศบาลเมืองเบตง เมื่อเดือน ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา และกำลังเริ่มดำเนินการสำรวจออกแบบจัดทำงบประมาณต่อไป
ประเด็นที่ 6 การแก้ปัญหาน้ำท่วมเบตง ได้เตรียมการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำชลประทานเพื่อแก้ปัญหา นายนิพนธ์ได้รับไปประสานงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประธาน เพื่อให้บรรจุโครงการนี้เข้าแผนของกระทรวงฯ ต่อไป
ประเด็นที่ 7 เรื่องอาคารด่านศุลกากรกับด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง ที่ด่านเบตงชำรุด นายนิพนธ์ช่วยประสานงานและด่านตรวจคนเข้าเมืองได้งบแล้ว 5.2 ล้านบาท จะเร่งซ่อมแซมตั้งแต่เดือน พ.ค. 2565 เป็นต้นไป และจะให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ส่วนอาคารศุลกากร ได้ประสานงานอธิบดีกรมศุลกากรลงมาดูแล้ว จะได้มีการเข้ามาช่วยจัดการให้ต่อไป เพื่อเตรียมรองรับสำหรับนักท่องเที่ยว เมื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเดินทางเข้ามาในเมืองไทยได้ในอนาคต