“จุรินทร์” ถกทีมเซลส์แมนปัตตานีเดินหน้าผลักดันสินค้าศักยภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้ขายออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ ดันเปิดถนนคนเดินหน้าศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว หนุนวิจัยและพัฒนาอาหารฮาลาล พร้อมประสานจ่ายชดเชยเลิกทำประมง แก้กฎหมายที่ตึงตัว ช่วยผู้ค้าในตลาดสะพานปลา และป้องกันแรงงานเข้ามาแย่งอาชีพ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมทีมเซลส์แมนจังหวัดปัตตานี ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่โรงแรม ซี เอส ปัตตานี ว่า ได้พิจารณาข้อเสนอของหอการค้าจังหวัดปัตตานีที่ขอให้กระทรวงพาณิชย์หาตลาดให้กับสินค้าของจังหวัดปัตตานี ซึ่งพาณิชย์จังหวัดแจ้งว่าขณะนี้มีการดำเนินการโครงการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคัดสินค้าพรีเมียม หรือสินค้าที่มีศักยภาพของ 3 จังหวัด จังหวัดละ 20 รายการเสร็จสิ้นแล้ว จะเข้าสู่การขายออนไลน์ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์จะจัดงานจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ชายแดนใต้ เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้า 60 รายการในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2565
สำหรับการจัดทำโครงการถนนคนเดินที่ถนนปัตตานีภิรมย์ หรือถนนหน้าศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เพื่อดึงนักท่องเที่ยวและช่วยให้การค้าของปัตตานีสะพัดขึ้น ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายใน ประชุมร่วมกับหอการค้าจังหวัด สภาการท่องเที่ยวจังหวัด และส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพาณิชย์จังหวัด และบริษัททัวร์ทั้งหมดว่าควรดำเนินการในรูปแบบไหนอย่างไร
ทางด้านประเด็นที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยนำสินค้า 5 จังหวัดชายแดนใต้ ขายในห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ พาณิชย์จังหวัดได้รับไปดำเนินการช่วยเหลือ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทีมเซลส์แมนจังหวัดโดยตรงอยู่แล้ว และการสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) สินค้าฮาลาลในพื้นที่ปัตตานี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้รับไปประสานงานดำเนินการให้ เพราะมีโครงการและงบประมาณ R&D กับสถาบันอาหาร 200 รายการ โดยเป็นงบประมาณปี 2565 และปี 2566 และในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงนาม MoU กับมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เพื่อทำโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO สินค้าฮาลาล ตั้งเป้า 3 จังหวัดชายแดนใต้ มี 4 มหาวิทยาลัย 1 สถาบันอาชีวศึกษาให้ได้ประมาณ 1,000 คนในปีนี้
นายจุรินทร์กล่าวว่า ประเด็นที่รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ประกอบการประมงที่ต้องยกเลิกประมงไป หรือต้องเลิกการทำประมง เพราะนโยบายของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้มี 104 ลำ ที่ถึงเวลาจ่ายเงินชดเชยแต่ยังค้างจ่าย ที่ประชุมมีมติให้ ศอ.บต.ดำเนินการเร่งรัดสำนักงบประมาณเพื่อเร่งรัดต่อไปโดยเร็ว และเรื่องแก้ไขพระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2560 ที่มีเนื้อหาตึงตัวกับผู้ประกอบการ ขอให้สมาคมประมงแห่งประเทศไทยส่งร่างที่ประสงค์แก้ไขให้กับตน และในฐานะผู้แทนราษฎร จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ นำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอนต่อไป
นอกจากนี้ ได้มีการพิจารณาเรื่องที่ค้างจากประชุมคราวที่แล้ว คือ แผงค้าตลาดองค์การสะพานปลาปัตตานี มี 2 ประเด็น ได้แก่ 1. ขนาดแผงที่ผู้ค้าในตลาดสะพานปลาปัตตานีประสงค์ให้ปรับขนาดให้เหมาะสม ได้รับแจ้งจากผู้แทนองค์การสะพานปลาว่าปรับขนาดให้เป็นไปตามที่ผู้ค้าหารือร่วมกันแล้ว คือ ขนาด 3.5 × 2.5 เมตรต่อล็อก คาดว่าจะปฏิบัติจริงได้วันที่ 1 พ.ค. 2565 และ 2. เรื่องค่าเช่า เดิมคิดค่าเช่า ตร.ว.ละ 103 บาท ประสงค์ขึ้นเป็น 483 บาทต่อ ตร.ว. และได้มีการเจรจากัน สุดท้ายองค์การสะพานปลาผ่อนปรนชั่วคราวเก็บในราคาเดิม 103 บาทต่อ ตร.ว. และราคาที่จะปรับใหม่จะหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป ขึ้นอยู่กับค่าเช่าพื้นที่รวมที่กรมธนารักษ์ต้องเร่งกำหนดราคาที่องค์การสะพานปลาไปเช่ากับกรมธนารักษ์ก่อน กรมธนารักษ์จะเร่งดำเนินการกำหนดค่าเช่าให้เสร็จในเดือน มิ.ย. 2565 นี้
ส่วนการร้องเรียนว่ามีแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทยในตลาดปลา และมาเป็นผู้ประกอบการเสียเอง ทั้งที่การอนุญาตให้เข้าเมือง ให้เฉพาะผู้ใช้แรงงานเท่านั้น ได้มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และสำนักงานจัดหางานจังหวัด และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องเร่งลงไปแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย