ความต้องการยางพาราทั่วโลกที่เปลี่ยนไป ส่งผลโดยตรงต่อราคาของยางพารา กว่า 10 ปีมาแล้ว ราคายางพาราได้กระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางในไทยโดยเฉพาะชาวสวนยางรายย่อยซึ่งมีอยู่ประมาณ 5.4 ล้านคน (ร้อยละ 90 ของเกษตรกรชาวสวนยาง) โดยรัฐบาลและนักวิชาการได้แนะนำให้ชาวสวนละทิ้งการทำสวนยางพาราแบบเชิงเดี่ยว และรัฐบาลได้สนับสนุนเงินลงทุนในการเปลี่ยนแปลงจำนวน 16,000 บาทต่อไร่ ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราจะพบว่าจำนวนชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการเพื่อเปลี่ยนแปลงนั้นมีน้อยกว่าจำนวนเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาว่าอะไรคือสาเหตุสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงจากสวนยางพาราไปเป็นสวนเกษตรแบบอื่น เพื่อให้ชาวสวนยางผ่านวิกฤตด้านราคาไปได้ และเพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนของชาวสวนยางรายย่อยต่อไป
จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่สนใจวิกฤตด้านราคา? ด้วยจำนวนยางพาราที่ผลิตออกมาเกินความต้องการของตลาด และรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางลดลง โดยเฉพาะชาวสวนยางรายย่อย โดยปี 2554 ดัชนีรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางเป็น 344 ผ่านไป 9 ปี ดัชนีรายได้ของเกษตรกรในปี 2563 ลดลงเหลือ 143 หรือลดลงร้อยละ 58 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 17,403 บาทต่อเดือนในปี 2554 เพิ่มเป็น 21,329 บาทในปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 23
ไม่ง่ายเลยสำหรับชาวสวนยางรายย่อยที่ต้องต่อสู้ในเหตุการณ์ที่ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพิ่มขึ้นแต่รายได้กลับลดลง ผลที่ตามมาคือหนี้สินที่ขาดการชำระ จนกระทั่งต้องสูญเสียทรัพย์สิน ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานภาคเกษตรไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกทั้งกระทบต่องบประมาณของภาครัฐจากโครงการประกันราคา สะท้อนจากการที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณหมื่นล้านบาท ในการประกันราคายางระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565
“การศึกษาสาเหตุของการตัดสินใจของเกษตรกรชาวสวนยางพาราในการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการเข้าใจมุมมองของชาวสวนต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น จะช่วยให้รัฐบาลสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของชาวสวนยางได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุน และปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง ที่ได้จากมุมมองของกลุ่มชาวสวนยางทั้งกลุ่มที่ได้เปลี่ยนแปลงแล้ว และชาวสวนยางที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง จะถูกนำมาหาความสัมพันธ์ต่อการเปลี่ยนผ่านจากสวนยางพาราไปยังสวนเกษตรแบบอื่นๆ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการออกนโยบายที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชาวสวนยางพารา” น.ส.ณัฐทรินีย์ จิตเที่ยง นักศึกษาปริญญาเอก ร่วมกับ รศ.ดร.ชาร์ลส์ เหลา และ ดร.สิทธิ พิทยชวาล คณาจารย์แห่งมหาวิทยาลัย RMIT (Royal Melbourne Institute of Technology University) กล่าว
ทั้งนี้ ชาวสวนยางพารารายย่อยจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อวิกฤตด้านราคา ซึ่งการเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของชาวสวนยางนั้นจะนำไปสู่การออกนโยบายเพื่อลดพื้นที่การเพาะปลูกยางพารา และการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด