xs
xsm
sm
md
lg

กยท.เปิดผู้ประกอบการ-สถาบันเกษตรกรสมัครร่วมโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การยางแห่งประเทศไทยเดินหน้า “โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) ที่รับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง" ย้ำเปิดกว้างให้ผู้ประกอบกิจการยาง ทั้งสถาบันเกษตรกร-เกษตรกรรายย่อยสามารถขอชดเชยดอกเบี้ยตามที่จ่ายจริง ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี รวมวงเงินกู้ 20,000 ล้าน สามารถยื่นเอกสารร่วมโครงการได้แล้ววันนี้-30 เม.ย. 65

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมยางของไทย เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศจีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกชะลอตัว ทำให้ห่วงโซ่การผลิตหยุดชะงัก หรือ Supply Chain Disruption ความต้องการใช้วัตถุดิบในภาคการผลิตลดลง ทำให้โครงสร้างภาคอุตสาหกรรมยางพาราของไทยตั้งแต่ภาคการผลิต การแปรรูป การตลาด มีปัญหาอย่างรุนแรง อีกทั้งเกิดปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจยางพาราที่ประสบปัญหาการผลิตและการลงทุนลดลง กระทบต่อภาคการจ้างงานและรายได้ ทำให้ราคายางพาราภายในประเทศมีแนวโน้มลดต่ำลงซึ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง ดังนั้น คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยจึงได้เห็นชอบให้ดำเนิน
“โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) ที่รับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง" ซึ่งรัฐบาลโดย กยท.จะสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาโครงการ 1 ปี โดยไม่เกินเดือนธันวาคม 2565 วงเงินกู้รวมทั้งโครงการไม่เกิน 20,000 ล้านบาท

“โครงการฯ นี้มีเป้าหมายให้ผู้ประกอบกิจการยางสามารถซื้อผลผลิตยางแห้งของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางไม่น้อยกว่า 350,000 ตัน ทำให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างศักยภาพโครงสร้างอุตสาหกรรมยาง ทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพมากขึ้น เกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบกิจการยางมีสภาพคล่องสามารถฟื้นฟู มีความพร้อมในการแข่งขันทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยางพาราในประเทศ มีการขยายตัวมากขึ้นส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป พร้อมกันนี้ขอยืนยันว่าโครงการฯ นี้เปิดกว้างให้ทั้งผู้ประกอบกิจการยางรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการยางรายย่อย โดยเฉพาะสถาบันเกษตรกรที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดสามารถเข้าร่วมโครงการได้”

ผู้ว่าการ กยท.ได้กล่าวถึงคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการฯ ว่า 1. ต้องเป็นผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) ที่ซื้อยางมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางแท่งยางแผ่นรมควัน ยางแผ่นผึ่งแห้ง ยางเครป ยางคอมปาวด์ ยางผสม ยางสกิม ไม่ใช่เป็นการดำเนินการรวบรวมผลผลิตเพื่อจำหน่าย 2. เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตค้ายาง ใบอนุญาตตั้งโรงทำยางตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 และมีการรายงานข้อมูลบัญชียางให้กับกรมวิชาการเกษตร 3. ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือหนังสือรับรองจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่ (แล้วแต่กรณี) 4. ต้องเป็นผู้ประกอบกิจการยางซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย และมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นมากกว่า 50% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว และ 5. เป็นผู้ประกอบกิจการยางที่สามารถขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้และสถาบันการเงินนั้น
ส่วนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการสำหรับการพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการฯ นายณกรณ์ชี้แจงว่า การยางแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการบริหารโครงการเป็นผู้พิจารณากำหนดวงเงินจัดสรรของผู้ประกอบกิจการยางจากข้อมูลบัญชีการซื้อยางตามแบบยาง 5 ของกรมวิชาการเกษตร โดยกำหนดให้วงเงินจัดสรรไม่เกินมูลค่าซื้อยางเฉลี่ยรายเดือนที่ใช้ซื้อจริงในปี 2564 และไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จะพิจารณาวงเงินจัดสรรให้แก่ผู้ประกอบกิจการยางที่ยื่นคำขอและเอกสารการสมัครที่ครบถ้วนก่อนตามลำดับการสมัคร

“ส่วนสถาบันการเงินจะพิจารณาการให้สินเชื่อตามระเบียบของสถาบันการเงิน ประเภทสินเชื่อเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีอัตราดอกเบี้ยพิจารณาตามความเสี่ยงของผู้ประกอบกิจการยางตามเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนด ระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 1 ปีนับจากวันทำสัญญา โดยผู้กู้จะต้องชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยผู้เข้าร่วมโครงการมีหนังสือรับรองวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพื่อประกอบการพิจารณาเข้าร่วมโครงการและอนุมัติวงเงินจัดสรร”

ทั้งนี้ ผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ สามารถยื่นคำขอพร้อมเอกสารได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน 2565 ที่ฝ่ายอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย เลขที่ 50 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2579-1576 ต่อ 303, 313 ในวันและเวลาราชการ

“เมื่อผู้ประกอบการยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมโครงการแล้ว คณะกรรมการบริหารโครงการของ กยท.จะเป็นผู้พิจารณากำหนดวงเงินจัดสรรของผู้ประกอบกิจการยาง โดยพิจารณาจากข้อมูลบัญชีการซื้อยางตามแบบยาง 5 ของกรมวิชาการเกษตร กําหนดให้วงเงินจัดสรรไม่เกินมูลค่าซื้อยางเฉลี่ยรายเดือนที่ใช้ซื้อจริงในปี 2564 และไม่เกิน 1,000 ล้านบาทต่อราย จากนั้นคณะกรรมการบริหารโครงการพิจารณาอนุมัติเงินชดเชยดอกเบี้ยของผู้เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ กยท.จะขอรับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ และจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยแก่ผู้เข้าร่วมโครงการเมื่อสิ้นสุดโครงการ” ผู้ว่าการ กยท.กล่าวในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น