บีซีพีจีตั้งเป้าปี 2565 มี EBITDA โตร้อยละ 25-35 เดินหน้าเจรจาปิดดีล M&A ลั่นปี 2569 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2,900 เมกะวัตต์ ด้านที่ประชุมผู้ถือหุ้นฯ อนุมัติจ่ายเงินปันผลรอบครึ่งหลังของปี 2564 เพิ่มอีก 0.17 บาทต่อหุ้น พร้อมอนุมัติวงเงินหุ้นกู้ มูลค่า 3 หมื่นล้านบาทใน 5 ปี รองรับแผนขยายการลงทุนเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าในอนาคต
นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG) เปิดเผยว่า ภาพรวมของแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2565 บริษัทฯ ได้ตั้งเป้ากำไรก่อนจะหักภาษีดอกเบี้ย, ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะเติบโตประมาณร้อยละ 25-35 จากปีก่อน เนื่องจากคาดว่าจะมีการรับรู้ EBITDA จากพอร์ตการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาอย่างโดดเด่น ขณะเดียวกันปีนี้มีแผนที่จะลงทุนซื้อกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท
ปัจจุบันบีซีพีจีมีกำลังการผลิตทั้งหมด 1,108 เมกะวัตต์ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เรียบร้อยแล้ว 345 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างพัฒนา 764 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ทั้งหมดภายในปี 2568
ส่วนที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ จัดสรรเงินกำไรประจำปี 2564 ไว้เป็นทุนสำรองตามกฎหมาย และจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิสำหรับผลการดำเนินงานในรอบครึ่งหลังของปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 0.17 บาท เมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาลทั้งหมดที่จ่ายในปี 2564 อัตรารวม 0.16 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินปันผลจ่ายประจำปี 2564 จำนวนทั้งสิ้น 0.33 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินรวมจำนวน 926.02 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 เมษายน 2565
รวมถึงได้อนุมัติให้บริษัทฯ ออกและเสนอขายหุ้นกู้ในวงเงินไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2565-2569) เพื่อใช้ในการลงทุน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไป หรือเพื่อทดแทนเงินกู้เดิมที่ครบกำหนดชำระ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยการออกและเสนอขายหุ้นกู้ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในรูปสกุลเงินบาทหรือสกุลเงินตราต่างประเทศ ตามความเหมาะสมกับความต้องการใช้เงินของบริษัทฯ และสภาวะตลาดในขณะนั้น
“การได้รับอนุมัติวงเงินหุ้นกู้ในครั้งนี้จะทำให้บริษัทฯ มีศักยภาพฐานทุนในการรองรับแผนการลงทุนส่วนหนึ่ง โดยในอีก 5 ปีนับจากนี้บีซีพีจีวางเป้าหมายขยายการเติบโตกว่าเท่าตัวจากปัจจุบันทั้งด้านรายได้ และกำลังการผลิตจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ภายใต้วงเงินลงทุนประมาณ 95,000 ล้านบาท ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่, ธุรกิจบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ (smart energy solution) เช่น ธุรกิจผลิตและจำหน่ายระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือแบตเตอรี่ ธุรกิจการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ฯลฯ และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ (smart infrastructure) อาทิ ธุรกิจพัฒนาเมืองอัฉริยะให้สมบูรณ์ครบวงจรทั้งด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม”