กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้เป้า “อาหารสัตว์เลี้ยง” ที่มีนวัตกรรม มุ่งดูแลสุขภาพสัตว์ มีโอกาสส่งออกขายตลาดชิลี หลังชาวชิลีหันมาเลี้ยงสัตว์เพื่อคลายเหงากันมากขึ้น เผยล่าสุดมีสัตว์เลี้ยงที่ขึ้นทะเบียนในปี 64 ถึง 1.53 ล้านตัว
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ติดตามโอกาสทางการค้าของไทยในประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง กรมฯ ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซานติอาโก ชิลี ถึงโอกาสการส่งออกอาหารสัตว์ เพื่อป้อนความต้องการของผู้บริโภคในตลาดชิลีที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของการเลี้ยงสัตว์ที่มีมากขึ้น เพราะชาวชิลีเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คู่แต่งงานหลายคู่ไม่มีลูก ประชากรวัยทำงานที่อาศัยโดยลำพังเพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการสัตว์เลี้ยงเพื่อคลายเหงาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงเติบโตตามไปด้วย
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลของบริษัทวิจัย Euromonitor ระบุว่า ยอดขายผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในชิลีประจำปี 2564 มีมูลค่า 991,591 ล้านเปโซชิลี (ประมาณ 1,243 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 2.6% และคาดว่าตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงจะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อไปอีก ส่วนการรายงานจำนวนสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการฝังไมโครชิปและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเขตในแต่ละท้องที่ มีจำนวนสูงถึง 1.53 ล้านตัว แบ่งออกเป็นสุนัขจำนวน 1.22 ล้านตัว และแมว 311,400 ตัว
ขณะที่ผลสำรวจอัตราการเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือนปี 2564 พบว่าอยู่ที่ 73% หรือทุก 100 ครัวเรือนจะมีครัวเรือนที่มีการเลี้ยงสัตว์ 73 ครัวเรือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดในละตินอเมริกา โดยอาร์เจนตินา 66% เม็กซิโก 64% บราซิล 58% แสดงให้เห็นว่าชาวชิลีนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอย่างมาก โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายสำหรับสัตว์เลี้ยงประมาณ 480,000 เปโซชิลีต่อปีต่อสัตว์เลี้ยงหนึ่งตัว (ประมาณ 603 เหรียญสหรัฐ) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับอาหาร ค่ารักษาพยาบาล ของเล่น เสื้อผ้า และคาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สำหรับตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงในชิลี แบ่งออกเป็น 2 หมวดหลัก ได้แก่ 1. อาหารสัตว์เลี้ยง มียอดขายในปี 2564 คิดเป็นมูลค่า 812,375 ล้านเปโซชิลี (ประมาณ 1,018 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วน 81.9% ของตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง โดยแบ่งออกเป็น อาหารสุนัข อาหารแมว และอาหารสัตว์เลี้ยงอื่นๆ และ 2. สินค้าอื่นๆ สำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งยอดขายในปี 2564 คิดเป็นมูลค่า 179,215 ล้านเปโซชิลี (ประมาณ 224.4 ล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วน 18.1% ของตลาดผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง โดยแบ่งออกเป็น ทรายแมว ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ
นายภูสิตกล่าวว่า ปัจจุบันชิลีมีการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงเองภายในประเทศ และมีการนำเข้าบางส่วน โดยตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมาชิลีมีการนำเข้าลดลง เนื่องจากบริษัท Nestle เข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงงานอาหารสัตว์ โดยเป็นผู้ผลิตอาหารสุนัขและอาหารแมวยี่ห้อ Dog Chow, Cat Chow, Propran ทำให้ Nestle เป็นบริษัทที่ครองส่วนแบ่งตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในอันดับต้นๆ ของประเทศชิลี แต่แม้จะมีการผลิตสินค้าอาหารสัตว์ภายในประเทศ ชิลียังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยการนำเข้าอาหารสัตว์ในปี 2564 มีปริมาณ 146.57 ล้านตัน มูลค่า 235.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากอาร์เจนตินามากที่สุด มูลค่า 95.95 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ สหรัฐฯ บราซิล เช็กรีพลับลิก จีน เยอรมนี ฝรั่งเศส แคนาดา อิตาลี ตามลำดับ ส่วนของการนำเข้าจากไทยมีมูลค่า 2.33 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 266.02% ซึ่งไทยเป็นประเทศอันดับที่ 13 ที่ชิลีมีการนำเข้ามากที่สุด
สำหรับอาหารสัตว์ของไทยที่มีโอกาสในการขยายตลาด ควรจะเน้นตลาดสินค้าสัตว์เลี้ยงระดับพรีเมียมที่มีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก โดยผู้ประกอบการไทยอาจพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่เน้นเรื่องสุขภาพอนามัย เช่น อาหารแคลอรีต่ำสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีน้ำหนักเกิน อาหารสัตว์เลี้ยงสูงวัย อาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับรักษาโรคเฉพาะทางที่เพิ่มวิตามินเพื่อสุขภาพ หรืออาหารสัตว์เลี้ยงเชิงบำบัดที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยท่านใดที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อมายังสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซานติอาโก ได้ที่ช่องทางอีเมล thaitrade@ttcsantiago.cl