xs
xsm
sm
md
lg

“ทูตพาณิชย์กรุงโซล” ชี้เป้าดัน “กาแฟไทย” เจาะตลาดเกาหลีใต้ รับความต้องการพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ทูตพาณิชย์กรุงโซล” เผย “กาแฟไทย” มีโอกาสขยายตลาดเกาหลีใต้ หลังปี 64 พบการนำเข้าทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ถึง 1.488 ล้านล้านวอน แถมมีร้านกาแฟเปิดเพิ่ม 2 เท่าตัวภายใน 4 ปี ชี้เมล็ดกาแฟดิบ เมล็ดกาแฟคั่ว และกาแฟ GI มีโอกาสทำตลาดสูง

น.ส.ชนัญญา พรรณรักษา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ เปิดเผยถึงการติดตามโอกาสทางการค้าของไทยในตลาดเกาหลีใต้ ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ว่า สำนักงานฯ ได้ติดตามสถานการณ์การนำเข้ากาแฟของเกาหลีใต้ พบว่า ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปี 2544 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการเก็บสถิติในด้านปริมาณ มีการนำเข้า 75,185.50 ตัน มูลค่า 72.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และพอมาปี 2564 มีปริมาณ 189,502.40 ตัน เพิ่มขึ้น 7.3% มูลค่า 916.48 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.2% หรือ 1.488 ล้านล้านวอน ทำสถิติสูงสุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และมีร้านกาแฟเปิดเพิ่มมากถึง 2 เท่าตัวภายในระยะเวลา 4 ปี หรือในปี 2017 มีจำนวน 44,000 กว่าร้าน เพิ่มเป็น 83,000 กว่าร้านในปี 2021 และร้านสตาร์บัค

โดยเมื่อพิจารณาสถิติการนำเข้ากาแฟรายประเทศประจำปี 2564 พบว่า สวิตเซอร์แลนด์ครองอันดับ 1 มูลค่า 130.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยโคลอมเบีย 128.2 ล้านเหรียญสหรัฐ บราซิล 115.7 ล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐฯ 112.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เอธิโอเปีย 75.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และเวียดนาม 62.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยมีมูลค่ายังไม่มาก อยู่ที่ 1.12 แสนเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ตลาดกาแฟในเกาหลีใต้ ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวัฒนธรรมการดื่มกาแฟกลายเป็นวิธีหนึ่งในการดำรงชีวิตของชาวเกาหลี เพราะกาแฟนอกจากจะเป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งแล้ว ร้านกาแฟได้กลายเป็นสถานที่ในการสังสรรค์ พบปะผู้คน ถ่ายรูปลงโซเชียล ซึ่งปัจจุบัน จะสามารถพบร้านกาแฟในทุกมุมเมืองของเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นร้านแฟรนไชส์ หรือร้านรายย่อยที่ผู้ประกอบการดำเนินกิจการเอง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการส่งออกกาแฟจากไทยไปเกาหลี พบว่า มีโอกาสทั้งเมล็ดกาแฟดิบ เมล็ดกาแฟคั่ว แม้ปัจจุบันยังเป็นสินค้าที่ปริมาณส่งออกไม่มาก และมูลค่าต่อหน่วยยังไม่สูงนัก แต่เห็นควรเร่งรัดขยายการส่งออกต่อเนื่องตามความต้องการที่สูงขึ้น และเห็นว่า กาแฟที่มีความเฉพาะ เช่น กาแฟที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไทย ก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่น่าสนใจในตลาดเกาหลีใต้ เนื่องจากจะสามารถสร้างความแตกต่างและสร้างการรับรู้ในฐานะผู้ผลิตกาแฟคุณภาพสูงได้

ส่วนช่องทางการการประชาสัมพันธ์กาแฟไทย ควรจะร่วมมือกับบาริสตาที่มีชื่อเสียงในตลาดเกาหลี ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีในการเจาะตลาดกาแฟเกาหลีได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้นวัตกรรมมาผลิตสินค้าใหม่ ๆ เช่น การร่วมมือกับบริษัทชั้นนำในการพัฒนากาแฟแคปซูลที่ใช้วัตถุดิบจากไทย ก็จะมีโอกาสในการทำตลาดเพิ่มมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น