xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ปลดล็อก "สายสีส้ม" เซ็นข้อตกลงคุณธรรม ตั้งผู้สังเกตการณ์ กก.มาตรา 36 นัด 12 เม.ย.ประชุมเกณฑ์ประมูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม.เซ็นข้อตกลงคุณธรรม "สายสีส้ม" ตั้งผู้สังเกตการณ์ 6 คน ร่วมประชุมกก.มาตรา 36 วางเกณฑ์ประมูลคัดเลือกร่วมทุนฯ รอบใหม่ นัดหารือ 12 เม.ย.นี้ คาดได้ข้อสรุป RFP ขึงไทม์ไลน์ เริ่มก่อสร้างปลายปี 65

วันที่ 4 เม.ย. 2565 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้สังเกตการณ์ ได้ร่วมลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2564 สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยมีนายฐิตพงศ์ พุทธิวุฒิกูล ผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และนายชาญวิทย์ นาคบุรี ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เข้าร่วมพิธี      

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า การลงนามข้อตกลงฯ ในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่เห็นชอบการนำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมไปกำหนดใช้ โดยอนุโลม สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่นนอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต้องดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวด้วย เนื่องจากเป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ และมีผลกระทบโดยตรงต่อประโยชน์สาธารณะ

สำหรับแนวทางการปฏิบัติตามข้อตกลงคุณธรรม จะมีผู้สังเกตการณ์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการคัดเลือกเอกชนของโครงการ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 ท่าน ได้แก่ นายอนันต์ เกษเกษมสุข ดร.สุวัฒน์ วาณีสุบุตร นางสาวอรสา จินาวัฒน์ นายชาญชัย พงศ์ภัสสร นายกิตติเดช ฉันทังกูล และนายการุณ เลาหรัชตนันท์ เข้าร่วมสังเกตการณ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน รวมไปถึงขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน

โดยหลังจากลงนามฯ คณะผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ซึ่งการประชุมร่วมกันครั้งแรกนี้เป็นการรับฟังข้อมูลของการเชิญชวนและเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) โดยคณะกรรมการมาตรา 36 จะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 12 เมษายน 2565

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 รฟม.ได้ออกประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เพื่อนำความคิดเห็นมาใช้ประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) แล้ว คาดว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะสรุป RFP ได้ในเดือนเมษายนนี้

โดยไทม์ไลน์กำหนดการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ช่วงเดือน มี.ค.-ส.ค. 2565, ก่อสร้างโครงการเดือน ก.ย. 2565, เปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันออกเดือน ส.ค. 2568 และเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันตก เดือน ธ.ค. 2570

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) โดยการนำข้อตกลงคุณธรรมฯ มาใช้ในการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของ รฟม. ในการที่จะดำเนินงานโครงการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ และประเทศไทยต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น