ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ห่วงกรมบัญชีกลางทบทวนกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่ใช้มา 5 ปี ย้ำข้อเสนอขององค์กรฯให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เป็นกลไกที่มีประโยชน์มาก ควรได้รับการสนับสนุนอย่างยั่งยืน
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ องค์กรฯ นำเสนอให้มีการยกระดับ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ให้มีมาตรฐานระดับสากล สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มีความโปร่งใสอย่างชัดเจน ทุกหน่วยงานในระบบทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างในมาตรฐานเดียวกันเพื่อความเสมอภาคในการทำงานและป้องกันการทุจริตคอรัปชันอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งนำเสนอให้ยกระดับการปฏิบัติด้านจัดซื้อจัดจ้างจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็น พ.ร.บ.อย่างเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐปี 2560 ใช้บังคับมา 5 ปี ซึ่งกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กำลังจะมีการปรับปรุงทบทวน จึงเห็นว่ามีประเด็นสำคัญที่ถูกบรรจุไว้ในกฎหมายฉบับนี้ ในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริต หากมีการปรับปรุงทบทวนส่วนนี้ให้ด้อยลง อาจสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติได้
ข้อดีของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ คือ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนชัดเจน สร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยมีการกำหนด ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) สร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลสำหรับโครงการขนาดใหญ่ระดับ 1,000 ล้านบาทในส่วนกลาง ทั้ง 3 ส่วน คือ หน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการต้องเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอนให้ผู้ประมูลยอมรับข้อตกลง ส่วนบริษัทเอกชนที่เข้าประมูลหรือเสนอราคาก็ต้องไม่ให้สินบนกับหน่วยรัฐเจ้าของโครงการ และยินยอมให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าไปตรวจสอบการประมูลได้ทุกขั้นตอน สุดท้าย ประชาชนซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์อิสระต้องเข้าถึงข้อมูลและเอกสารทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่มีการประมูล หากพบเห็นความผิดปกติต้องรีบแจ้งให้หน่วยงานรัฐเจ้าของโครงการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบทันที
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560-2564 พบว่า สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 100,747 ล้านบาท หรือร้อยละ 12 เหลือเพียง 832,568 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดของ 130 โครงการ” (อ้างอิงข้อมูลจากการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คณะกรรมการ ค.ป.ท.).ครั้งที่ 1/2565 วันที่ 22 ก.พ.2565) “ นายประมนต์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมี โครงการสร้างความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) สำหรับโครงการที่ไม่ซับซ้อน หรือการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้วยการสร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุล มีคณะกรรมการความร่วมมืออันประกอบด้วย ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชน ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลที่เปิดเผยตามมาตรฐานสากล
“ยังพบว่า ล่าสุดมีโครงการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐาน(CoST) จำนวน 1,035 โครงการ งบประมาณรวม 76,562 ล้านบาท โครงการนี้สามารถช่วยลดต้นทุนงบประมาณก่อสร้างลงได้ถึง 9,535 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของงบประมาณทั้งหมด” (อ้างอิง:คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต ครั้งที่ 3/2564) มีตัวอย่างโครงการ CoST ต้นแบบในระดับจังหวัด ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ นายประมนต์ ได้กล่าวสะท้อนถึงปัญหาที่สำคัญคือ “การอุทธรณ์” ตัวการทำงานล่าช้า เสียโอกาสพัฒนา เสียเวลางบประมาณไปอีกหนึ่งปี การจะปรับทบทวนกฎหมายขอเน้นย้ำตรงจุดนี้ พร้อมทั้งการยกระดับ ข้อตกลงคุณธรรม หรือ IP และ CoST ให้สำคัญมากขึ้น ทางภาครัฐต้องส่งเสริมงบประมาณและทำอย่างจริงจัง จะทำให้ประหยัดงบประมาณได้อีกมาก
“โครงการขนาดเล็ก รั่วไหลมาก หากต่างจังหวัดจริงจังตรงนี้ จะช่วยอุดช่องโหว่ได้มาก อยากให้รัฐส่งเสริมอบรม สนับสนุนทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน เพื่อเน้นให้ทั้งกระบวนการเข้มแข็ง ให้ข้าราชการดีๆมีหลังพิง ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่มองไม่เห็นอีกด้วย”
นายประมนต์ กล่าวย้ำข้อเสนอว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ถือเป็นกลไกที่มีประโยชน์มาก ควรได้รับการสนับสนุนให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน