“สุริยะ” เป็นปลื้มหลัง “สศอ.” รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ก.พ. 65 อยู่ที่ระดับ 102 เพิ่มขึ้น 2.75% รับอานิสงส์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 และเปิดประเทศ ประมาณการ MPI ปี 2565 ขยายตัว 3.5-4.5% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.2-3.2% สั่งทุกหน่วยงานเฝ้าระวังผลกระทบความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนใกล้ชิด ห่วงต้นทุนภาคผลิตพุ่งสูง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า จากการายงานตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่าอยู่ที่ 102 มีอัตราการเติบโต 2.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและยังเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 นับตั้งแต่กันยายน 2564 เมื่อรวม 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ.) เฉลี่ย MPI ขยายตัว 2.38% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ก.พ.อยู่ที่ 64.80% โดย สศอ.ได้ประมาณการ MPI ปี 2565 จะ ขยายตัว 3.5-4.5% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.2-3.2%
“การผลิตยังคงเติบโตต่อเนื่อง หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการสนับสนุนผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐและการเปิดประเทศ และที่สำคัญการส่งออกของไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ดังนั้น สศอ.จึงได้ประมาณการภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในรัสเซียและยูเครนที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้น ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด” นายสุริยะกล่าว
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ในเดือน ก.พ. อยู่ที่ 64.8% ลดลงจาก 65.69% ในเดือน ม.ค. 65 ขณะที่ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 65.25% โดยอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนก.พ. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.88% เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 40.94% จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.18% จากความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ายังมีปัญหา Supply shock ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ส่งผลให้มีการขาดแคลนชิปในตลาดโลก ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.22% เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 23.26% จากผลิตภัณฑ์ชุดกีฬา เสื้อยืด และชุดชั้นใน ฯลฯ มาจากการขยายตัวของตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั้งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ระยะต่อไปจำเป็นต้องติดตามใกล้ชิดในเรื่องของกรณีการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่กระทบต้นทุนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบ รวมถึงค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สถานการณ์ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่สูงขึ้น ภาครัฐอาจยกระดับมาตรการในการควบคุมหรือไม่ รวมถึงการขาดแคลนแรงงานในภาคผลิต