“ทูตพาณิชย์ไมอามี” เผยสินค้าธรรมชาติ สินค้าเกษตรอินทรีย์ และสินค้าฟังก์ชัน มีโอกาสส่งออกสหรัฐฯ หลังผู้บริโภคนิยมสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชี้เป้าสินค้าเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มใส่สาร CBD มีโอกาสสูง แต่ต้องเพิ่มออปชัน ช่วยเพิ่มโปรตีน เพิ่มสมาธิ หลับสบาย หรือใช้วัตถุดิบที่แตกต่างอย่างขมิ้นชัน-ขิง เพื่อสร้างความน่าสนใจ แต่ต้องระวังเรื่องโฆษณาเกินจริง
น.ส.นิธิมา ศิริโภคากิจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี สหรัฐฯ เปิดเผยถึงการติดตามโอกาสทางการค้าของไทยในตลาดสหรัฐฯ ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ว่า สำนักงานฯ ได้ติดตามลู่ทางการส่งออกสินค้าธรรมชาติ สินค้าเกษตรอินทรีย์ และสินค้าอาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชันในกลุ่มสินค้าธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์ในตลาดสหรัฐฯ พบว่ามีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของผู้บริโภคที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
สำหรับสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัว เช่น เครื่องดื่มพร้อมดื่ม อาหารแช่แข็ง และขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่มีส่วนประกอบของสารอิเล็กโทรไลต์ เห็ด สารสกัดสมุนไพร ไขมันดี และสารพรีไบโอติกส์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคในตลาดยังคงให้ความสนใจสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่คุ้นเคยที่ส่งเสริมความสมดุลด้านรสชาติและอรรถประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ขนมขบเคี้ยวสูตรคีโต เนื้อจากพืชอบแห้ง ไอศกรีมเพิ่มโปรตีน น้ำอัดลมและขนมขบเคี้ยวจากสารธรรมชาติ เป็นต้น
ทั้งนี้ มูลค่าตลาดสินค้าธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์สหรัฐฯ ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 41% ของมูลค่าตลาดทั่วโลก และชาวอเมริกันยังมีสัดส่วนใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์เฉลี่ยต่อคนสูงถึง 148 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ถือว่าเป็นสัดส่วนการใช้จ่ายเฉลี่ยที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และได้มีการประเมินมูลค่าตลาดในปัจจุบันอยู่ที่ 2.74 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จะเพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 และเพิ่มเป็น 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2573
น.ส.นิธิมากล่าวว่า พฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกันยังคงให้ความสำคัญต่อการเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีสรรพคุณให้ประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งน่าจะทำให้กลุ่มสินค้าธรรมชาติ สินค้าเกษตรอินทรีย์ และสินค้าฟังก์ชันยังคงมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องในสหรัฐฯ ซึ่งผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่สนใจทำตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ จึงควรพิจารณาให้ความสำคัญในการปรับปรุงพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดเพื่อให้สามารถขยายตลาดส่งออกสินค้าได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
โดยสินค้าฟังก์ชันที่เป็นที่นิยมและมีโอกาสขยายตัวมากที่สุดในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกันในปัจจุบัน เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มผสมสารแคนนาบิไดออล (CBD) เป็นต้น จึงทำให้มีผู้ประกอบการจำนวนมากตัดสินใจเข้าตลาด ซึ่งส่งผลให้สภาพการแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง การที่ผู้ประกอบการไทยจะประสบความสำเร็จในการทำตลาดในสหรัฐฯ นอกจากการพัฒนาสินค้าที่มีสรรพคุณที่เป็นที่นิยมตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาด เช่น สรรพคุณด้านการช่วยเผาผลาญ สรรพคุณด้านการช่วยเพิ่มโปรตีน สรรพคุณด้านการช่วยเพิ่มสมาธิและสรรพคุณด้านการช่วยให้หลับสบายแล้ว การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกในด้านการพกพาและใช้งานง่ายน่าจะมีส่วนทำให้ประสบความสำเร็จในตลาดได้มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ การสร้างความแตกต่างของสินค้าโดยการนำสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณให้ประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน เช่น ขมิ้นชัน และขิง มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตก็น่าจะสร้างให้สินค้าเกิดความน่าสนใจและช่วยให้สามารถเจาะตลาดผู้บริโภคชาวอเมริกันได้มากขึ้นด้วย แต่ก็ต้องระวังในเรื่องที่องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ มีระเบียบและมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้า รวมถึงการแสดงฉลากและการอวดอ้างสรรพคุณสินค้าที่เข้มงวดมาก ผู้ประกอบการไทยจึงควรที่จะระมัดระวังการแสดงฉลากโดยหลีกเลี่ยงการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือสรรพคุณทางยา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการอนุญาตนำเข้าสินค้าในอนาคต
ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคศักยภาพและมีมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของไทย รองจากจีนและญี่ปุ่น โดยในปี 2564 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งสิ้น 3.45 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มแปรรูป ผัก ผลไม้ และข้าวหอมมะลิ และมีมูลค่าการส่งออกสินค้าธรรมชาติและเกษตรอินทรีย์ในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ข้าวหอมมะลิ อาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยว น้ำมะพร้าว และเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น