มกอช. เดินหน้ายกระดับร้าน Q Restaurant ระดับพรีเมี่ยม จัดหาวัตถุดิบปลอดภัยบริการผู้บริโภค กระตุ้นการซื้อขายและจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยเพิ่มขึ้น
นางสาวเสาวลักษณ์ ศุภกมลเสนีย์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายเชิงรุก "เหลียวหลัง แลหน้า รองรับ Next Normal" (Agri challenge >> Next Normal 2022) มุ่งขับเคลื่อนภาคการเกษตรอย่างยั่งยืนในปี 2565 โดยจะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวง ให้บรรลุเป้าหมาย การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้แก่เกษตรกร โดยการวางรากฐาน ในการทำงานของกระทรวงฯ เพื่อรองรับความปกติใหม่ (New Normal) และสร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวง มีความท้าทายต่อภาคเกษตรที่จะขับเคลื่อนในระยะต่อจากนี้ โดยเน้น 3 ด้าน คือ 1.การผลิต - เชื่อมโยงทรัพยากรการผลิตยั่งยืน เน้นผลิตสินค้ามูลค่าสูง ควบคู่กับการยกระดับมาตรฐาน GAP เกษตรอินทรีย์ สนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพร/สุขภาพ พืชพลังงานทดแทน และผลักดันระบบฟาร์มอัจฉริยะ 2.การแปรรูป - เน้นสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ด้วย BCG Model การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร (GMP HACCP ฯลฯ) 3.การตลาด - เน้นการนำเสนอคุณค่าต่อผู้บริโภค (การสร้าง Story) การสร้างสรรค์ packaging/branding การทำ Online Marketing และการสร้างประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์การเกษตร
การที่จะดำเนินการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร ของกระทรวงเกษตรฯ จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน โดยที่ผ่านมา มกอช. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากผู้ประกอบการร้านอาหารหลายๆ ร้านจากทั่วประเทศที่สมัครเข้าร่วมโครงการร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัย เลือกใช้สินค้า Q (Q Restaurant) และจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ที่เป็นเจ้าภาพหลัก ในการขับเคลื่อนโครงการร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัยเลือกใช้สินค้า Q (Q Restaurant) ในระดับภูมิภาค ซึ่งถือว่าเป็นกลไกสำคัญ ที่จะส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตร ส่งผลต่อการผลักดันให้แนวนโยบายของกระทรวงฯ เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้
ซึ่ง มกอช. ได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การพัฒนายกระดับร้านอาหาร Q Restaurant ระดับพรีเมี่ยม มาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องของสินค้า Q ให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ซึ่งเป็นผู้ประสานงานโครงการฯ ผู้ประกอบการร้านอาหาร Q Restaurants เกษตรกร และเจ้าหน้าที่ มกอช. และเชื่อมโยงผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานกับผู้บริโภคเป็นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายและจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายและการทำงานแบบบูรณาการพัฒนายกระดับคุณภาพร้านอาหารสู่วิถีชีวิตใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ BCG เพื่อเป็นการพัฒนายกระดับร้านอาหาร Q Restaurant ให้เป็นร้านอาหาร Q ระดับพรีเมี่ยม
ทั้งนี้ อยากฝากนโยบายสำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก จำนวนเป้าหมายในการตรวจรับรอง Q Restaurant เป็นสิ่งที่ ทุกจังหวัดตั้งเป้าหมายที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งควรเน้นเชิงคุณภาพ โดยมุ่งเน้นความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ และควรแนะนำแหล่งวัตถุดิบปลอดภัย หรือฟาร์มที่ได้มาตรฐาน แหล่งจำหน่าย ตลาดเกษตรกร ให้กับร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการได้จัดหาวัตถุดิบปลอดภัย เข้าร้านให้มีความหลากหลายมากขึ้น และสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าของร้าน คือ จะต้องมีการตรวจติดตามร้านอาหารที่ผ่านการรับรองปีละ 1 ครั้ง ว่ายังคงรักษามาตรฐานเดิมไว้ได้หรือไม่
ประการที่ 2 การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ผู้บริโภคได้รู้จัก Q Restaurant แหล่งจำหน่ายสินค้า Q ต่างๆ นั้น ควรเน้นสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจและรู้จักสินค้า Q มากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักถึงการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยนั้น จะเป็นการสร้างหลักประกันของสุขภาพ นอกจากนี้การปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็สำคัญ ตัวอย่าง เช่น การใช้สมาร์ทโฟน ให้เป็นประโยชน์ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการสืบค้นแหล่งที่มาของสินค้าเกษตรจากการสแกน QR. code ที่ตัวสินค้า หรือการใช้ Q Restaurant Application โดยการแนะนำให้ผู้บริโภค และร้านอาหารได้รู้จักและใช้ประโยชน์จาก Application ดังกล่าว
“อย่างไรก็ดี หากสามารถพัฒนายกระดับร้านอาหาร Q Restaurant ให้เป็นร้านอาหาร Q ระดับพรีเมี่ยมได้ เชื่อว่าจะทำให้สามารถขับเคลื่อนโครงการร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัยเลือกใช้สินค้า Qได้อย่างมีประสิทธิภาพ”รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว