คกก.มาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นชอบ 5 ร่างมาตรฐาน “หัวพันธุ์มันฝรั่ง-ข้าวยั่งยืน-GAP พืชต้นอ่อน” เตรียมประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไป มุ่งขับเคลื่อนมาตรฐานสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน
นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 1/2565 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการมาตรการลดผลกระทบต่อเกษตรกรด้านค่าใช้จ่ายในการขอการตรวจรับรองมาตรฐาน โดยในส่วนมาตรการระยะสั้น ควรชะลอการถ่ายโอนภารกิจการตรวจรับรองมาตรฐานให้เอกชนดำเนินการออกไปอย่างน้อย 1 ปี ในขณะที่ระยะยาว ควรมีการเตรียมการส่งเสริมความพร้อมหลายๆ ด้าน ทั้งการเพิ่มจำนวนและ ขีดความสามารถของผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน ภาคเอกชน การขอการรับรองมาตรฐานแบบกลุ่ม และควรพิจารณาแนวทางการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการตรวจรับรองมาตรฐาน
นอกจากนี้ยังได้พิจารณาการกำหนดให้ตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรเป็น “กิจการต่อเนื่องอื่นที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตรตามที่คณะกรรมการกำหนด” ตามบทนิยามคำว่า “ผู้ผลิต” (2) ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และเห็นชอบให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เริ่มดำเนินการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรเกี่ยวกับตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรและเสนอคณะกรรมการเพื่อขอแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการต่อไปและคณะกรรมการยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 5 เรื่อง ได้แก่ 1.หัวพันธุ์มันฝรั่ง 2.ข้าวยั่งยืน 3.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชงอกและพืชต้นอ่อน 4.หลักปฏิบัติสำหรับการป้องกันและลดการปนเปื้อนโอคราทอกซิน เอ ในเมล็ดโกโก้ และ 5.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์ปีกแบบเลี้ยงปล่อย ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศต่อไป
ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐาน 5 เรื่อง คือ 1.หัวพันธุ์มันฝรั่ง ปัจจุบันหัวพันธุ์มันฝรั่ง ผลิตเองในประเทศมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศ โดยในปี 2564 ไทยนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง จำนวน 7,099,072 กก. คิดเป็นมูลค่า 207,361,418 บาท ซึ่งการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง อีกทั้งอาจมีโรคและแมลงติดมากับหัวพันธุ์มันฝรั่งได้ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้สนับสนุนให้กรมวิชาการเกษตรศึกษาแนวทางผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งคุณภาพ เพื่อทดแทนการนำเข้า และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งที่มีคุณภาพเหมาะสำหรับนำไปขยายพันธุ์ได้เอง จึงได้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หัวพันธุ์มันฝรั่งขึ้น โดยครอบคลุมเฉพาะหัวพันธุ์มันฝรั่งที่ผลิตในประเทศเท่านั้น เนื่องจากคุณภาพของหัวพันธุ์มันฝรั่งที่ผลิตในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศ ชนิดของศัตรูพืช และการจัดการของประเทศนั้นๆ
2.ข้าวยั่งยืน ข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ปี 2564 มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปี 62.599 ล้านไร่ ผลผลิต 26.019 ล้านตัน เนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง 8.442 ล้านไร่ ผลผลิต 4.996 ล้านตัน มีการส่งออก ประมาณ 6.117 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.078 แสนล้านบาท กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ได้กำหนดเกี่ยวกับการจัดการฟาร์ม การเตรียมการก่อนปลูก การใช้น้ำ การจัดการธาตุอาหาร การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการ เก็บเกี่ยว สุขภาพและความปลอดภัยของบุคลากรสิทธิแรงงานในฟาร์ม การแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นสินค้าข้าว และการแสดงฉลากและการกล่าวอ้างของข้าวเปลือกและสินค้าข้าว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารและการพัฒนาการผลิตที่ยั่งยืน (รวมทั้งครอบคลุมข้าวเปลือก และสินค้าข้าวประเภทข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง และข้าวขาวที่ได้จากระบบการผลิตข้าวยั่งยืน) ซึ่งจะตอบสนองต่อทิศทางด้านการเกษตรในอนาคต ที่ต้องทำการผลิตอย่างยั่งยืน
3.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชงอกและพืชต้นอ่อน ซึ่งเป็นพืชที่นิยมบริโภค เช่น ถั่วงอก ต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนผักบุ้ง จากความเชื่อว่าเป็นพืชที่ปลอดสารพิษ มีเอนไซม์ที่ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ มีวิตามินและสารอาหารสูงกว่าพืชชนิดเดียวกันที่เจริญเต็มที่แล้ว แต่มักพบปัญหาที่โรคพืชที่เกิดจากความชื้นที่ไม่เหมาะสม โรคจากเชื้อรา รากเน่า ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพและปนเปื้อนจุลินทรีย์ก่อโรค ทำให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัย จึงได้กำหนดมาตรฐาน GAP พืชงอกและพืชต้นอ่อน เพื่อส่งเสริมการผลิตพืชงอกและพืชต้นอ่อนที่มีความปลอดภัย และมีคุณภาพ ตั้งแต่การเตรียมเมล็ดพันธุ์ การเพาะ การเก็บเกี่ยว การจัดเตรียมก่อนการบรรจุ การบรรจุ จนถึงการเก็บรักษาเพื่อรอการจำหน่าย เพื่อให้ได้พืชงอกและพืชต้นอ่อนที่ปลอดภัย มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภค
4.หลักปฏิบัติสำหรับการป้องกันและลดการปนเปื้อนโอคราทอกซิน เอ ในเมล็ดโกโก้ (ในปี 2564 (มกราคม-พฤศจิกายน 2564) ประเทศไทยส่งออกเมล็ดโกโก้ (ทั้งเมล็ดหรือที่แตก ดิบหรือคั่ว) ปริมาณ 5,411 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 1,167,720 บาท และมีการนำเข้าปริมาณ 18,435 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 3,499,588 บาท) ทั้งนี้ มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ Codex ได้กำหนดมาตรฐาน Code of Practice for the Prevention and Reduction of Ochratoxin A contamination in cocoa (CAC/RCP 72-2013) เพื่อเป็นข้อแนะนำการปฏิบัติเพื่อป้องกันและลดการปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อราโอคราทอกซิน เอ ในเมล็ดโกโก้ จึงได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโกโก้ เพื่อรองรับแผนการส่งเสริมการปลูกโกโก้ในอนาคต เพื่อให้ได้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์โกโก้ที่ได้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดและลดการปนเปื้อนสาร โอคราทอกซิน เอ
5.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์ปีกแบบเลี้ยงปล่อย การเลี้ยงสัตว์ปีกแบบปล่อยจำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด การพัฒนาการจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ซึ่งมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ กำหนดเกณฑ์การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสัตว์ปีก ที่เลี้ยงไว้ผลิตเนื้อหรือไข่เพื่อการค้า เช่น ไก่ เป็ด ไก่งวง นกกระทา นกกระจอกเทศ ห่าน แบบเลี้ยงปล่อย ครอบคลุมข้อกำหนด องค์ประกอบฟาร์ม การจัดการการเลี้ยง การจัดการไข่สัตว์ปีก การทำความสะอาดและบำรุงรักษา บุคลากร สุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และการบันทึกข้อมูล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สัตว์ปีก มีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ มีสุขภาพแข็งแรง และได้ผลิตผลที่มีคุณภาพในการนำไปใช้ผลิตเป็นอาหารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค