ช่วงนี้ไม่เพียงอากาศที่ร้อน แต่หลายคนอาจต้องร้อนเงินในการควักจ่ายบิลค่าไฟฟ้างวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 65) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) อยู่ที่ 24.77 สตางค์/หน่วยหรือปรับขึ้น 23.38 สตางค์/หน่วยจากเดิมเก็บที่ 1.39 สตางค์/หน่วย และเมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐานขายปลีกที่ 3.76 บาทต่อหน่วย จะทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าโดยรวมมากถึง 4 บาท/หน่วยซึ่งถือเป็นอัตราสูงสุดเป็นประวัติการณ์กันเลยทีเดียว…ซึ่งปัจจัยหลักมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานโลกเพิ่มสูงทั้งน้ำมัน-ก๊าซฯ ประกอบกับไทยมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้นเพราะก๊าซฯ ในอ่าวไทยลดลงในช่วงปลายสัมปทาน
ค่า Ft ดังกล่าวถือว่ามีการบริหารจัดการสารพัดลดต้นทุนให้แล้ว... และมีการเกลี่ยการปรับขึ้นค่าไฟเป็นขั้นบันได 3 ขั้น โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องแบกรับต้นทุน 3.89 หมื่นล้านบาทเอาไว้ก่อนโดยที่ยังไม่นำมารวมกับ Ft งวดนี้หากไม่เช่นนั้นการปรับจะขึ้นไปสูงถึง 1.29 บาท/หน่วยกันเลยทีเดียว ดังนั้นหากสถานการณ์ราคาน้ำมันและก๊าซฯตลาดโลกยังไม่คลี่คลายไปจากเดิม “กกพ.” ได้คำนวณเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อส่งสัญญาณเตือนแล้วว่าอีก 2 ขั้นบันไดที่เหลือคืองวด ก.ย.-ธ.ค. 65 และ ม.ค.-เม.ย. 66 จะขึ้น 40 สตางค์/หน่วย และ 46 สตางค์/หน่วยตามลำดับ แต่จะสูงหรือต่ำกว่านี้ต้องไปลุ้นราคาพลังงานโลกในระยะต่อไปเป็นสำคัญ ดังนั้นปลายปีเราก็คงจะเห็นค่าไฟรวมทะลุ 4 บาท/หน่วยแน่นอน
“ค่าไฟฟ้า” ที่แพงขึ้นท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนของไทยในช่วง เม.ย.-พ.ค.ที่จะถึงนี้ทำให้ใครๆ หลายคนต้องคลายร้อนด้วยการเปิดพัดลม เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนทำให้ค่าไฟที่จะจ่ายสูงขึ้นตามไปด้วย และบ่อยครั้งที่หลายคนก็ออกมาโวยวายต่อว่าค่าไฟแพงเกินเหตุ โดยลืมไปว่าค่าไฟฟ้าของไทยเป็นแบบอัตราก้าวหน้ายิ่งใช้มากยิ่งจ่ายแพง .... เพราะรัฐกำหนดไว้เพื่อป้องกันการใช้แบบฟุ่มเฟือยนั่นเอง .....ส่วนบิลที่มั่วเก็บผิดพลาดก็มีไม่น้อยก็ต้องตรวจสอบกันให้ถี่ถ้วนนะ
ท่ามกลางค่าไฟฟ้าแพงและอากาศร้อนภาครัฐก็จะออกมารณรงค์สารพัด ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน แนะนำวิธีประหยัดไฟกันเป็นประจำทุกปี ... ได้ผลแค่ไหนก็ไม่แน่ใจนัก.....แต่วิธีหนึ่งที่คนไทยและภาคธุรกิจได้มีการปรับเปลี่ยนด้วยการพึ่งพาตนเองนั่นคือการหันมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้ามากขึ้นที่ขณะนี้กำลังตอบโจทย์ของการลดค่าไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ …..เพราะหลายคนพิสูจน์มาแล้วเนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์ต่างๆ ล้วนมีแผงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าโซลาร์ ปั๊มน้ำโซลาร์ฯ พัดลมโซลาร์ Power-bank โซลาร์เซลล์ ฯลฯ
ค่าไฟแพงหนุนติดตั้งโซลาร์ฯ พุ่งพรวด
นายพลกฤต กล่ำเครือ นายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ กล่าวว่า Ft ปี 2565 ที่ปรับขึ้น ตั้งแต่งวดแรก (ม.ค.-เม.ย.) และล่าสุด กกพ.ได้ประกาศปรับขึ้นอีกในงวด พ.ค.-ส.ค. 23.38 สตางค์/หน่วยและมีแนวโน้มที่จะขึ้นต่อเนื่องไปถึงต้นปี 2566 หากระดับราคาน้ำมันและก๊าซฯ ตลาดโลกยังคงทรงตัวระดับสูงเช่นปัจจุบัน ประกอบกับมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ล่าสุดกำหนดเป้ารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชนปี 2565 อัตรารับซื้อไฟส่วนเกิน 2.20 บาทต่อหน่วย และระยะเวลารับซื้อ 10 ปี จึงเป็นตัวเร่งให้ประชาชนและภาคธุรกิจหันมาติดตั้งแผงโซลาร์ฯ บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นต่อเนื่อง
"ประชาชนตื่นตัวมากขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ภาคประชาชนมีการติดตั้งโซลาร์ฯเพิ่ม 20% ส่วนภาคธุรกิจติดตั้งเพิ่มราว 10-15% เพื่อลดต้นทุนค่าไฟ โดยเฉพาะโรงงานมีการติดตั้งมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเป็นลักษณะผลิตเองใช้เองหรือ IPS" นายพลกฤตกล่าว
สงครามพ่นพิษต้นทุนล็อตใหม่ขยับแต่ยังคุ้ม
อย่างไรก็ตาม การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตแผงโซลาร์ฯ มีการปรับขึ้นเฉลี่ย 20-30% ไม่ว่าจะเป็น อะลูมิเนียม เหล็ก ทองแดง ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้แผงโซลาร์ฯ ที่ไทยต้องนำเข้าจากจีนเป็นหลักล็อตใหม่เตรียมปรับราคาเพิ่มขึ้นราว 10% ในเดือน เม.ย.นี้จากเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ 10-11 บาทต่อวัตต์ อย่างไรก็ตาม แม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นแต่ภาพรวมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปปัจจุบันเฉลี่ย 4 ปีก็คุ้มทุนแล้ว
“ขณะนี้การติดตั้งขนาด 1.5 กิโลวัตต์อยู่ที่ไม่เกิน 8 หมื่นกว่าบาท แต่ตอนนี้เทรนด์ที่มาคือการติดตั้งไฮบริดคือบวกแบตเตอรี่และรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่รัฐส่งเสริมการใช้ โดยหากติดตั้งขนาด 5 กิโลวัตต์ค่าใช้จ่ายเพียง 4 แสนบาทโดยจุดคุ้มทุน 4-5 ปี ซึ่งตอนนี้แบตเตอรี่ก็กำลังถูกลงต่อเนื่อง” นายพลกฤตกล่าว
แนะรัฐหนุนโซลาร์ฯ บวกแบตฯ พึ่งพาตัวเอง
การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่ยุติและทำให้ทั่วโลกเกิดวิกฤตด้านราคาพลังงาน ประเทศไทยซึ่งมีแสงแดดที่เหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รัฐควรใช้โอกาสนี้ส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ให้มากขึ้นเพื่อที่จะสามารถสำรองไฟจากแสงอาทิตย์ไว้ใช้ได้ 24 ชั่วโมง และอาจใช้กลไกเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงานมาสนับสนุนการติดตั้ง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยทำให้ประชาชนลดรายจ่ายและพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องของพลังงานโดยเฉพาะในวิกฤตต่างๆ
“ระบบเน็ตมิเตอริ่ง หรือระบบการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยที่มีบางส่วนเสนอให้รัฐทำผมเข้าใจว่ารัฐคงจะไม่ดำเนินการ เพราะหากให้เข้ามามากจะเสียดุลพลังงานเพราะกลางวันหันไปใช้โซลาร์ฯ แต่กลางคืนมาดึงจากระบบไฟรวมทำให้ไม่สมดุล ดังนั้นจึงเห็นว่าควรจะส่งเสริมเรื่องแบตเตอรี่เพื่อกักไว้ใช้กลางคืนจะดีกว่า” นายพลกฤตกล่าว
ภาคการผลิตหันติดโซลาร์ฯ ลดต้นทุนเพิ่ม
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากผลกระทบค่าไฟฟ้าแพงที่ผ่านมาภาคเอกชนส่วนใหญ่มีการปรับตัวโดยการมุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อประหยัดพลังงาน หันไปผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงาน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) มากขึ้น รวมไปถึงการนำระบบบริหารจัดการพลังงานมาใช้และปรับแผนการผลิตเพื่อลดต้นทุนและการบำรุงรักษาและปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร
“ต้นทุนพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าถือเป็นต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเวลานี้ต้องยอมรับว่าต้นทุนต่างๆ ปรับขึ้นมากทั้งวัตถุดิบ และพลังงาน ค่าขนส่ง เนื่องจากภาวะการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จึงเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างสูงในระยะต่อไป เพราะหลายสินค้าอาจจำเป็นต้องปรับราคาขึ้น และการที่รัฐออกมาตรการดูแลผลกระทบ 10 มาตรการเพื่อลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชนบางส่วนนั้นนับเป็นเรื่องที่ดีแต่เป็นเพียงระยะสั้นที่ยังต้องติดตามสถานการณ์การสู้รบว่าจะจบเมื่อใดแน่” นายสุพันธ์กล่าว
สำหรับแนวโน้มค่า Ft และแอลพีจีที่จะปรับขึ้นก็มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมแต่จะมากน้อยขึ้นอยู่แต่ละประเภท ดังนั้นแนวทางแก้ไขเห็นว่ารัฐควรจะสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อปเพื่อลดต้นทุนในระยะยาว โดยภาคเอกชนเตรียมหารือกับรัฐบาลที่จะให้ส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์ฯ ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อช่วยลดรายจ่ายแก่ผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้นในการให้เกิดการพึ่งพาตนเอง
แนะรัฐปรับกติกาโซลาร์ฯ ภาคประชาชน
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อ 21 มี.ค. สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ไปยื่นหนังสือถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานเพื่อให้แก้ไขโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่สูงจากการบริหารที่ผิดพลาดโดยเฉพาะจากปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงถึง 50% จากปกติที่ควรจะอยู่เพียง 15% รวมถึงเสนอให้รัฐสนับสนุนการพึ่งตนเองด้านพลังงานไฟฟ้าของประชาชนอย่างเต็มที่ ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนให้เพิ่มขึ้น เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าและเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน
“การติดโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) โครงการโซลาร์ฯ ภาคประชาชนปัญหาที่พบ คือ ระบบไม่เอื้อ ไม่สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนได้มากพอ เพราะรัฐมีการกำหนดเพดานการรับซื้อโซลาร์เซลล์ทั่วประเทศเพียงปีละไม่เกิน 10 เมกะวัตต์เท่านั้น อัตราค่ารับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์บนหลังคา คือ 2.20 บาท/หน่วย ขณะที่ตอนนี้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นเป็น 4 บาทต่อหน่วยแล้ว จะเห็นว่าประชาชนอยู่ในภาวะที่ขาดทุน ดังนั้นรัฐควรเปลี่ยนเป็นระบบเน็ตมิเตอริ่ง หรือระบบการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยแทน” น.ส.รสนากล่าว
ดังนั้น รัฐบาลควรมีการปรับเพิ่มอัตราค่ารับซื้อไฟฟ้าให้ใกล้เคียงกับค่าไฟฟ้าที่ขายให้ประชาชน หรือไม่ควรต่ำกว่าค่าไฟฟ้าฐานที่ กฟผ.ขายส่งให้แก่ประชาชน ประมาณ 2.50-3.00 บาท/หน่วย นอกจากนี้ โซลาร์ภาคประชาชนที่รัฐบาลรับซื้อยังมีการกำหนดสัญญาไว้เพียง 10 ปีเท่านั้น ขณะที่ศักยภาพของแผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งานนานถึง 25 ปี ซึ่งยังไม่สร้างแรงจูงใจที่เพียงพอเนื่องจากระยะเวลารับซื้อสั้นกว่าอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์จึงควรขยายระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าของโซลาร์ภาคประชาชน จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 10 ปี เป็น 20-25 ปี นอกจากนี้รัฐควรจัดหาแหล่งทุนกู้ยืมดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ได้อย่างแท้จริง