การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการกำจัดมูลฝอยของกระทรวงมหาดไทย เป็นภาระหน้าที่ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดของบ้านเมืองที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบริหารจัดการขยะล้นเมือง ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือ และสนับสนุนจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและประชาชน
แต่โครงการนี้กลับมีความล่าช้าจากหน่วยงานกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีหน้าที่ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะตามแผน ขณะที่กระทรวงมหาดไทยเจ้าของโครงการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ความเห็นชอบโครงการเพิ่มเติมอีก 9 โครงการ และรายงานกระทรวงพลังงานมาตามลำดับ รวมแล้วมีโครงการที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว 32 โครงการ ปริมาณไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ 272.98 แบ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) 174.98 เมกะวัตต์ และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) 98 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการทั้งหมดจะกระจายดำเนินงานในพื้นที่ต่างๆเพื่อจัดการขยะในภาพรวมของประเทศ
สำหรับความคืบหน้าของกระทรวงพลังงานนั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ศึกษาวิเคราะห์อัตรารับซื้อไฟฟ้าสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนแล้วเสร็จ เสนอต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเข้าคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) อนุมัติต่อไป
โดย กกพ.เสนอผลการวิเคราะห์ไว้ 2 กรณี พร้อมข้อดีและข้อเสีย แบบที่ 1 กรณีรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะชุมชนอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง (Wholesale) แบบนี้จะรวมค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ขายส่ง ซึ่งราคา Wholesale เฉลี่ยปี 2563 อยู่ที่ 2.7912 บาทต่อหน่วย ส่วน Ft ขายส่งเฉลี่ย -0.1187 บาทต่อหน่วย แยกเป็นกรณีช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ( Peak) 4.2243 บาทต่อหน่วย และ นอกช่วงเวลาพีค (Off Peak) 2.3567 บาทต่อหน่วย
กรณีนี้ กกพ.ระบุข้อเสีย ว่า อัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่สะท้อนต้นทุน และผลตอบแทนที่เหมาะสมของโครงการ ทำให้เอกชนอาจไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากผลตอบแทนไม่เป็นไปตามผลการศึกษาที่ใช้ประกอบสัญญาร่วมดาเนินการ ทำให้ต้องแก้ไขสัญญาที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำไว้กับเอกชน ก่อให้เกิด ความล่าช้าไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567 ตามที่กำหนดในแผน รวมทั้งไม่เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) และแผนการจัดการขยะของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ที่สำคัญจะนำไปสู่ข้อพิพาทเกี่ยวกับอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรม
ส่วนแบบที่ 2 กรณีรับซื้อภายใต้การที่รัฐมีนโยบายสนับสนุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ซึ่งต้องคำนึงถึงผลตอบแทนการลงทุนของภาคเอกชน และกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT ตามกรอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าสูงสุดตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดมาแล้ว
ในส่วนของ SPP กำหนดอัตรา FiT ไว้ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย เป็นต้นทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า และค่าดำเนินการบำรุงรักษา (FiTF) ที่ 1.81 บาทต่อหน่วย และอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนแปรผัน (FiTV) ซึ่งคิดจากต้นทุนของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วย ที่ 1.85 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุโครงการ 20 ปี ส่วน VSPP รวม 5.78 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 8 ปี มาจาก FiTF,FiTV,Premium อัตรา 2.39, 2.69 และ 0.70 บาทต่อหน่วยตามลำดับ
สำหรับข้อดีและข้อเสียของการคิดอัตราค่าไฟฟ้าแบบนี้ กกพ.ระบุว่า มีข้อดีที่ผลตอบแทนโรงไฟฟ้าไม่เกินที่กระทรวงพลังงานเสนอ กพช. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 หรือไม่เกิน IRR 12% และโครงการสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมดำเนินการการจัดขยะที่หน่วยงานรัฐทำกับเอกชนไปแล้ว ช่วยลดข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับอัตรารับซื้อไฟฟ้า เนื่องจากโครงการได้ผ่านกระบวนการพิจารณาตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดฯ ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทยภายใต้อัตราค่าไฟฟ้าตามมติ กพช. เดิม
ส่วนภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เป็นภาระค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense :PE ) ซึ่งจะกระทบค่าไฟฟ้านั้น กกพ.เสนอว่าโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเป็น “โรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ” ตามแผน PDP 2018 และ PDP 2018 ปรับปรุงครั้งที่ 1 ประกอบกับมติ กพช. วันที่ 1 เมษายน 2564 ซึ่งให้มีองค์ประกอบค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของภาครัฐหรือ PE ไว้แล้ว
ทางด้านภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในภาพรวมจากการสนับสนุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชนนั้น ผลการศึกษาของกกพ.ระบุว่าหากทั้ง 32 โครงการ ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ทั้งหมด 272.98 เมกะวัตต์ ตลอดอายุ 20 ปี จะกระทบค่าไฟฟ้า 1.58 สตางค์ต่อหน่วยต่อปี กรณีนี้เป็นแนวทางการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอื่นๆที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินงานมาก่อน สอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการให้ไทยมีส่วนร่วมลดภาวะโลกร้อนตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับนานาประเทศในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัย 26 (COP26) ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งไทยประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากระดับที่ปล่อยในปี 2548 ลง 20-25% ภายในปี 2573 และความตกลงปารีสยังกำหนดให้ประเทศที่ร่วมลงนาม ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ด้วย ซึ่งการกำจัดขยะมูลฝอยพร้อมได้พลังงานไฟฟ้ากลับมา นอกจากเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่ช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนตามประชาคมโลกแล้ว การนำขยะไปผลิตไฟฟ้ายังช่วยแก้ปัญหาขยะล้นเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ มีส่วนช่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศไปพร้อมกัน ดังนั้น การที่กระทรวงพลังงานปล่อยเวลาให้ผ่านไป โดยไม่มีการเดินหน้าโครงการมานานหลายปี สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นไม่เฉพาะกับเอกชนที่ดำเนินโครงการเท่านั้น ประชาชนและประเทศก็เสียหายเช่นเดียวกัน