กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้เป้า “เครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล” เจาะตลาดคนรักสุขภาพในจีน หลังผู้บริโภคหันมานิยมเพิ่มมากขึ้น ตลาดเติบโตขึ้นต่อเนื่อง คาดมูลค่าตลาดจะเพิ่มเป็น 27,700 ล้านหยวนในปี 70 ชี้ปัจจุบันจีนนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 2 รองจากฝรั่งเศส จึงมีโอกาสในการขยายตลาดได้อีกมาก แนะศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคใกล้ชิด ผลิตสินค้าให้ตรงตามที่ต้องการ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ ติดตามสถานการณ์และโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ เพื่อนำมาแจ้งเป็นแนวทางให้แก่ผู้ประกอบการของไทยได้วางแผนการส่งออก โดยล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซียะเหมิน ถึงโอกาสการส่งออกสินค้า “เครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล” เจาะตลาดกระแสรักสุขภาพของชาวจีนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้บริโภคชาวจีนมองว่า เครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ เพราะการบริโภคน้ำตาลในปริมาณมากจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น ทำให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจการรักษาสุขภาพ ระมัดระวังปริมาณน้ำตาลในสินค้ามากขึ้น และหันมานิยมเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลมากขึ้น จึงได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลที่ได้รับความนิยมสามารถจำแนกเป็นเครื่องดื่มชา เครื่องดื่มน้ำอัดลมปราศจากน้ำตาล และเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลอื่นๆ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีรสนิยม ความชอบ และพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างกันได้
นายภูสิตกล่าวว่า ผลจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ขนาดตลาดของเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลเป็นแรงดึงดูดแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ของจีนหรือต่างชาติ ได้พยายามปรับสินค้าให้เข้าถึงใจผู้บริโภค เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้น โดยในตลาดจีนมีบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล เช่น Nongfu Spring , Master Kong , Uni-President , Xiangpiaopiao เป็นต้น ที่เป็นผู้เล่นหลัก ส่วนแบรนด์เครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลของต่างชาติที่หาซื้อได้ง่ายในจีน ได้แก่ น้ำแร่ sparkling ตรา Perrier ของประเทศฝรั่งเศส น้ำโซดา ตราช้างของไทย กาแฟดำ ตรา UCC และชาเขียว ตรา Kirin ของญี่ปุ่น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าในปี 2564 ที่ผ่านมา Global Trade Atlas ระบุว่าจีนนำเข้าเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล (HS Code 2201: Waters, Including Natural Or Artificial Mineral Waters And Aerated Waters, Not Containing Added Sweetening Nor Flavored; Ice And Snow) มูลค่ารวม 161 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 50.68% โดยนำเข้าจากประเทศฝรั่งเศสมากที่สุดมูลค่า 89.23 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของการนำเข้าทั้งหมด หรือ 55% โดยนำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับที่ 2 มีมูลค่า 19.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 91.66% คิดเป็นสัดส่วน 11.83% ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน พื้นที่นำเข้าหลัก คือ นำเข้าผ่านมณฑลกว่างตง คิดเป็น 59.55% ของการนำเข้า รองลงมา ได้แก่ มณฑลฝูเจี้ยน คิดเป็น 25.21% ของการนำเข้า และนครเซี่ยงไฮ้ คิดเป็น 11.41% ของการนำเข้า ตามลำดับ
“จากการรายงานของทูตพาณิชย์ นอกจากน้ำโซดา ตราช้าง ที่มีวางจำหน่ายในตลาดจีน เครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลอื่นของไทยยังมีจำหน่ายไม่มากนัก แต่ความต้องการยังคงมีเพิ่มขึ้น วัดได้จากมูลค่าตลาดที่เติบโตจาก 3,120 ล้านหยวนเป็น 11,780 ล้านหยวน ในช่วงเวลา 4 ปี (2559-2563) และคาดว่าในปี 2570 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มเป็น 27,700 ล้านหยวน กลุ่มสินค้านี้ จึงยังมีช่องว่างและมีโอกาสในตลาดจีน ไม่ว่าเป็นแบรนด์ของจีนหรือจากต่างชาติ ซึ่งผู้ผลิตของไทยควรติดตามแนวโน้ม และพฤติกรรมการบริโภคของตลาดจีนอย่างใกล้ชิด พัฒนา R&D เพื่อผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สอดรับยุทธศาสตร์ ตลาดนำการผลิต อันจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าสินค้า จับกลุ่มลูกค้าผู้รักสุขภาพซึ่งเป็นเทรนด์ในตลาดทั่วโลกไม่เพียงแต่ในจีนเท่านั้น แต่ยังจะส่งออกไปขายได้ทั่วโลก” นายภูสิตกล่าว