กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ส่งออกไทยเจาะตลาดกลุ่มนักศึกษาในจีนที่เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังเติบโตสูง ชี้สินค้าที่มีโอกาสมีหลากหลาย ทั้งอาหาร ขนม เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง แนะเจาะผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เหตุคนกลุ่มนี้นิยมดูรีวิว ย้ำต้องให้ความสำคัญต่อคุณภาพสินค้า เพื่อดึงให้กลับมาซื้อซ้ำและบอกต่อ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้กรมฯ ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ ในประเทศที่เป็นตลาดส่งออก เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการผลิตและส่งออกให้ผู้ประกอบการของไทย ล่าสุดกรมฯ ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกว่างโจว ถึงโอกาสในการเจาะตลาดกลุ่มนักศึกษาในประเทศจีน ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากการติดตามกลุ่มผู้บริโภคนักศึกษาในจีน พบว่าในปี 2020 มีนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวน 32.85 ล้านคน โดยนักศึกษา 1 คนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,082 หยวนต่อเดือน และในปี 2021 การบริโภคของกลุ่มนักศึกษาในประเทศจีนมีมูลค่าถึง 8.7 ล้านล้านหยวน โดยกิจกรรมที่สนใจมากสุด 3 อันดับแรก คือ การเลือกสรรร้านอาหารที่มีชื่อเสียง การดูหนัง ฟังเพลง การศึกษาหาความรู้ รวมถึงการเล่นเกมออนไลน์ ท่องเที่ยว และออกกำลังกาย โดยมีงานอดิเรก เช่น เพศชาย สนใจกีฬา e-Sport การ์ตูนเอนิเมชัน ฟิกเกอร์โมเดล และอุปกรณ์เทคโนโลยี เพศหญิง สนใจเรื่องแฟชั่น ความงาม กิจกรรมเอนเตอเทนเมนต์ต่างๆ สัตว์เลี้ยง และการ์ตูนแอนิเมชัน
สำหรับพฤติกรรมการบริโภคสินค้า พบว่ามีความสนใจการบริโภคเอนเตอร์เทนออนไลน์ แอปพลิเคชันเอนเตอร์เทนเมนต์ประเภทคลิปวิดีโอสั้น หรือแอปพลิเคชันสำหรับฟังเพลง ส่วนการบริโภคอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการเงิน การบริโภคจึงเลือกสินค้าที่มีราคาย่อมเยาและมีรสชาติอร่อย เช่น อาหาร ขนม กลุ่มนักศึกษาเพศหญิงจะนิยม ขนมแป้งเส้นรสเผ็ด ขนมหรืออาหารกระป๋อง และคุกกี้หรือเค้ก กลุ่มนักศึกษาเพศชายจะนิยมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถั่ว และผลไม้อบแห้ง เครื่องดื่ม กลุ่มนักศึกษาที่เกิดหลังปี 2000 ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชายนิยมดื่มน้ำผลไม้และชานม ราคาของเครื่องดื่มที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมจะอยู่ในระหว่างราคา 3-5 หยวน และเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ไม่ใช่นิยมเฉพาะเพศหญิง แต่เพศชายนิยมใช้มากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์สำหรับหนังศีรษะ ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ดูแลผม และครีมกันแดด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า และบำรุงผิวหน้า
นายภูสิตกล่าวว่า จากแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มนักศึกษา และพฤติกรรมการบริโภคดังกล่าว ถือได้ว่าตลาดกลุ่มนักศึกษาหรือตลาดคนรุ่นใหม่ในจีนเป็นตลาดผู้บริโภคที่น่าสนใจอีกตลาดหนึ่ง และมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก และถึงแม้กลุ่มนักศึกษาจะมีข้อจำกัดทางการเงิน แต่มักจะเลือกบริโภคสินค้าตามความสนใจและมีความชอบที่จะทดลองสินค้าใหม่ๆ ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจจะเลือกเจาะกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นอันดับแรก เพื่อเปิดตลาดสินค้าไทยใหม่ๆ สู่ตลาดจีน และในอนาคตกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ และกลายเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อต่อไป ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยเริ่มทำการตลาดกับกลุ่มวัยรุ่น วัยมหาวิทยาลัย จะเป็นการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ และคุณภาพของสินค้าที่ดีจะส่งผลให้กลุ่มลูกค้าเกิดความภักดีต่อแบรนด์ และเกิดการบริโภคซ้ำ จนทำให้สินค้าติดตลาดในที่สุด
ส่วนช่องทางการขยายตลาดไปยังผู้บริโภคกลุ่มนี้ ผู้ประกอบการควรศึกษาพฤติกรรมการบริโภคสินค้าในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล หรือความนิยมในการดูรีวิวสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นจีนยุคใหม่ไม่ได้มีพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอีกต่อไป อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้จะซื้อสินค้าตามรีวิวที่ตนเองติดตามได้มากกว่าการพบเห็นโฆษณาทั่วไป ดังนั้น การโปรโมตสินค้า สร้างคอนเทนต์รีวิวสินค้าบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมใช้งาน จึงเป็นการทำงานตลาดที่จำเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ คุณภาพสินค้า เป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่ง รองจากความรู้สึกพึงพอใจเมื่อใช้งาน และราคาของสินค้าที่คุ้มค่า ทำให้ผู้บริโภคกลับมาบริโภคสินค้าซ้ำ ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญต่อปัจจัยเหล่านี้ เพื่อให้เกิดการบริโภคซ้ำ และสินค้าถูกบอกต่อกันในวงกว้าง