กรมเจ้าท่าเปิดผลศึกษา PPP ร่วมลงทุนท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มูลค่ากว่า 1.21 หมื่นล้านบาท สัมปทาน 30 ปี ชูจุดแข็งสมุย เผยไทยไม่มีท่าเรือสำราญยังรั้งอันดับ 4 ของเอเชีย คาดเสนอ สคร.และ ครม.ปี 66 พร้อมเร่ง EHIA ดันประมูลปี 67 เป้าเปิดบริการปี 71
วันที่ 15 มีนาคม 2565 นายวรรณชัย บุตรทองดี ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา "โครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี" เพื่อประเมินความสนใจของนักลงทุนภาคเอกชน (Market Sounding) ว่า จากนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าดำเนินการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อศึกษาแผนแม่บทในการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณเกาะสมุย และตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รองรับการท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ที่ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสำราญทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งพบว่าเกาะสมุยเป็นอีกจุดหมายปลายทางที่มีความสำคัญ ซึ่งเรือสำราญที่เข้าไทยมักเลือกเป็นจุดแวะพักของเรือสำราญ เนื่องจากมีชายหาดที่สวยงามและแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย แต่ไม่มีท่าเทียบเรือสำราญโดยตรง จะต้องอาศัยเรือขนาดเล็กในการรองรับนักท่องเที่ยวจากเรือสำราญเข้าสู่ฝั่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยและไม่สะดวกต่อนักท่องเที่ยว
กรมเจ้าท่าได้ศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) คัดเลือกพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญ ณ บริเวณแหลมหินคม ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย เนื่องจากมีความพร้อมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม และได้เร่งรัดผลักดันโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือ โดยว่าจ้างที่ปรึกษาระยะเวลา 18 เดือน วงเงิน 18 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2565 และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2566 คาดว่าจะประกาศ RFP เปิดประมูลคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนได้ในปี 2567 เริ่มก่อสร้างปี 2568 ระยะเวลาสร้าง 3 ปี เปิดบริการปี 2571 ในขณะเดียวกัน กรมเจ้าท่าจะต้องดำเนินการศึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในปี 2565-2567 คู่ขนานไปด้วย
การศึกษาได้ประเมินมูลค่าลงทุนโครงการรวม 12,146 ล้านบาท ดำเนินการรูปแบบ PPP Net Cost โดยรัฐจะลงทุนในส่วนของค่าเวนคืนที่ดิน ค่างานก่อสร้างโยธาและค่างานระบบภายในอาคารทั้งหมด เงินลงทุน และให้เอกชนลงทุนในส่วนของอุปกรณ์ประกอบการดำเนินงาน ดำเนินงานและบำรุงรักษาท่าเรือ มีระยะเวลาก่อสร้างและเตรียมระบบ 4 ปี เอกชนได้สิทธิ์บริหารซ่อมบำรุงระยะเวลา 30 ปี ซึ่งการพิจารณาคัดเลือก 2 ส่วนประกอบกันคือ การให้รัฐอุดหนุนค่าก่อสร้าง และส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ ขณะที่ความเสี่ยงของโครงการ คือ EHIA ล่าช้า การคาดการณ์จำนวนเรือที่เข้าเทียบท่า ส่วนผู้ลงทุนคาดว่าจะเป็นสายเรือขนาดใหญ่ที่ให้บริการเรือท่องเที่ยวร่วมมือกับผู้ประกอบการในท้องถิ่นของไทย
โดยโครงการมูลค่า 12,146 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. เงินลงทุน 6,449 ล้านบาท โดยภาครัฐลงทุน 5,991 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 142 ล้านบาท ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานบนชายฝั่ง 444 ล้านบาท ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานนอกชายฝั่ง 4,909 ล้านบาท ค่าลงทุนงานระบบ 268 ล้านบาท ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 213 ล้านบาท ค่าศึกษาสิ่งแวดล้อม 15 ล้านบาท เอกชนลงทุนอุปกรณ์ประกอบการดำเนินงาน 458 ล้านบาท 2. ค่าดำเนินงาน และบำรุงรักษา 5,697 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากรายได้ของโครงการต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนที่เอกชนคาดหวัง เอกชนอาจได้รับการชดเชยผลตอบแทนจากภาครัฐในรูปแบบของเงินสนับสนุนหรือเงินร่วมลงทุน และหากรายได้ของโครงการสูงกว่าอัตราผลตอบแทนที่เอกชนคาดหวัง เอกชนอาจต้องแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ภาครัฐในรูปแบบของส่วนแบ่งรายได้หรือค่าสัมปทาน
ตามแผนพัฒนาจะใช้พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ป่าไม้ และบางส่วนเป็นพื้นที่เอกชน มีส่วนของถนนเข้าท่าเรือขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทาง 2.5 กม. เชื่อมทล.4170 ส่วนท่าเรือสำราญ จะสามารถรองรับเรือสำราญได้พร้อมกัน 2 ลำ ได้แก่ เรือสำราญขนาดใหญ่ 4,000 คน เรือสำราญขนาดกลาง 2,500 คน และรองรับเรือยอชต์สูงสุด 80 ลำ เรือเฟอร์รีสูงสุด 6 ลำ ซึ่งท่าเรือมีขนาดความยาวหน้าท่า 362 เมตร ความลึกร่องน้ำ 12 เมตร อาคารผู้โดยสารบรรจุ 3,600 คน
ข้อมูลพบว่า ในระหว่างปี 2014-2019 ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของจำนวนครั้งที่เรือสำราญเข้าเทียบท่าสูงถึงร้อยละ 87.7 โดยในปี 2019 ประเทศไทยมีเรือสำราญที่เข้าเทียบท่าจำนวน 550 ครั้ง ซึ่งเติบโตสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่มีผู้โดยสารแวะเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย ตามลำดับ ทั้งๆ ที่ไทยไม่มีท่าเรือสำราญเลย ขณะที่เกาะสมุยมีเรือสำราญที่เข้าเทียบท่าจำนวน 59 ครั้ง สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากท่าเรือภูเก็ต และท่าเรือแหลมฉบัง เท่านั้น โดยระหว่างปี 2010-2019 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือสำราญเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5.3 ต่อปี ดังนั้น หากไทยมีท่าเทียบเรือสำราญและมีความสะดวก และปลอดภัย จะเป็นโอกาสในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้อีกมาก