xs
xsm
sm
md
lg

เปิดภารกิจ AIS 5G ดันสาธารณสุขไทยด้วยรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาพของการนำเครือข่าย 5G มาใช้งานในภาคสาธารณสุขถือว่ามีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่โอเปอเรเตอร์ในไทยเริ่มให้บริการเครือข่าย 5G พร้อมกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น มาช่วยสร้างอัตราเร่งในการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน 

​เมื่อมองย้อนไปบริการให้คำปรึกษาแพทย์ทางไกลอย่าง Telemedicine นับเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีทางด้านการเชื่อมต่อมาใช้งานกับภาคสาธารณสุขที่เห็นได้ชัดเจน และเป็นรูปธรรมมากที่สุด ก่อนที่จะขยายไปยังการใช้งานในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้งานกับหุ่นยนต์ เพื่อช่วยลดการสัมผัสระหว่างเจ้าหน้าที่ และผู้ป่วย จนถึงการนำไปพัฒนาใช้งานร่วมกับรถฉุกเฉินที่จำเป็นต้องมีการส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถเตรียมการรักษาได้อย่างทันท่วงที

​ก่อนเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย ทั้งผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และภาคสาธารณสุข ที่ประกอบด้วยโอเปอเรเตอร์อย่างเอไอเอส และเอ็นที (บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ) และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวมถึงคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นำเทคโนโลยี 5G เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช ในการเข้ารับตัวผู้ป่วยหลอดเลือดสมองให้เข้ารับการรักษาได้ทันเวลา 

***ปรับโครงข่าย 5G ให้รองรับการใช้งาน 

​วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวถึงความท้าทายในการนำเครือข่าย 5G เข้ามาให้บริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะการนำไปใช้งานร่วมกับรถฉุกเฉินที่ให้บริการแบบเคลื่อนที่ ซึ่งต้องให้ความสำคัญมากกว่าเดิม

​“ปัจจุบันโครงข่ายโทรคมนาคมได้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้หลากหลายภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้งาน ซึ่งรวมถึงภาคสาธารณสุขด้วย และยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยขยายโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมในด้านต่างๆ”

​ในแง่ของความท้าทาย เดิมทีการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือจะเน้นออกแบบเครือข่ายให้รองรับการใช้งานในพื้นที่หมู่บ้าน หรือพื้นที่ที่มีปริมาณการใช้งานจำนวนมาก เพื่อให้สามารถบริการได้ครอบคลุมประชากรมากที่สุด

​ขณะที่รถฉุกเฉิน หรือหน่วยบริการทางการแพทย์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่จะอยู่บนถนน ทำให้ต้องมีการปรับเครือข่ายให้รองรับเส้นทางที่รถคันนี้วิ่งผ่าน โดยเอไอเอส ได้เข้าไปทำงานร่วมกับคณะวิศวกรรมฯ มหิดล อย่างใกล้ชิด ทั้งการสำรวจเส้นทางที่รถวิ่งในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สามารถบริการ 5G ได้ในทุกๆ จุดที่มีความสำคัญ

​ในมุมของผู้ให้บริการ เมื่อได้รับข้อมูลการใช้งานตามเส้นทางต่างๆ ก็สามารถนำมาปรับปรุงเครือข่ายให้รองรับการใช้งานของประชาชนทั่วไปด้วย ดังนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์คือคนไทยทุกคนที่สามารถเข้าถึงเครือข่าย 5G ที่มีประสิทธิภาพ

​“จากความสำเร็จในการให้บริการช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีดิจิทัลที่บรรดาเครือข่ายโอเปอเรเตอร์เร่งขยายพื้นที่ให้บริการ 5G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศนั้นมีความหมาย และทำให้ภาคสาธารณสุขของไทยมีศักยภาพทัดเทียมกับนานาชาติได้แล้ว” 

*** ต้นแบบ MSU 2 ปี ช่วยคนไข้มากกว่า 700 ราย

​แรกเริ่มเดิมทีหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Mobile Stroke Unit : MSU) เริ่มทดลองให้บริการมาตั้งแต่ปี2560 ก่อนเริ่มนำเครือข่าย 5G มาใช้งานในปี2563 ในบริเวณใกล้โรงพยาบาลศิริราช ก่อนขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินในระยะเวลาไม่เกิน 5 ชั่วโมง เพื่อให้สามารถรักษาผู้ป่วยจากโรคหลอดเลือดสมองให้ทัน

​ประกอบกับปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างเครือข่าย 5G นั้นสามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศใน 77 จังหวัด ครอบคลุม 76% ของการใช้งานทั่วประเทศ ทำให้การนำรถ MSU ไปให้บริการในพื้นที่ห่างไกลทำได้สะดวกขึ้น เพราะสามารถติดต่อสื่อสารไปยังหน่วยแพทย์ได้อย่างทันท่วงที


​โดยปัจจุบันรถ MSU ให้บริการอยู่ทั้งหมด 5 คัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งศิริราช โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จ.ราชบุรี โรงพยาบาลคีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม จ.นครพนม ที่ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือคนไข้จากโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่า 700 รายแล้ว

​พร้อมมีแผนจะเพิ่มรถ MSU อีก 3 คันเพื่อนำไปให้บริการในพื้นที่ห่างไกลโดยมองในเรื่องของความขาดแคลนเป็นหลักและเรือรักษาอัมพาตฉุกเฉินอีก 1 ลำ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาเรือรักษาอัมพาตฉุกเฉินให้สามารถนำไปใช้ตามเกาะใหญ่ๆ ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางภาคใต้ได้

​รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ระบุว่า เป้าหมายของการลงทุน และพัฒนารถ MSU ที่มีการนำเครือข่าย 5G มาใช้งาน เพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้ที่สนใจสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้ในอนาคต

​“ศิริราชมองถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงเน้นไปที่การสร้างอุปกรณ์ต้นแบบมาให้หน่วยงาน หรือเอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนเพื่อนำไปใช้งาน มากกว่าการนำเงินบริจาค และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาให้บริการในเชิงพาณิชย์”

​เหตุผลสำคัญที่เลือก MSU มาเป็นโครงการต้นแบบ เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะโรคสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก และผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อมีอาการแล้วมีโอกาสพิการสูง เนื่องจากการรักษาโรคนี้ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในการรักษา ยิ่งเข้าถึงการรักษาได้เร็วโอกาสที่จะหายกลับไปเป็นปกติยิ่งสูงขึ้น

​รศ.นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเสริมถึงการนำ 5G ไปใช้งานภายในรถ MSU ที่มีการติดตั้ง 5G CPE เข้าไปเพื่อใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ภายในไม่ว่าจะเป็นระบบวิดีโอคอลแบบเรียลไทม์จากหลากหลายมุมกล้อง จนถึงการรับส่งภาพถ่ายซีทีสแกนสมองคนไข้หลายภาพ หลายชุด เข้าไปยังส่วนกลางเพื่อทำการวินิจฉัยในการรักษา

​“ความสำคัญของ 5G คือเข้ามาช่วยลดความหน่วงในการสื่อสารลง ด้วยการนำจุดเด่นเรื่อง Latency ที่ต่ำ ร่วมกับการรับส่งข้อมูลความเร็วสูง โดยพื้นฐานคือต้องการความเร็วในการอัปโหลดเฉลี่ยที่ราว 12 Mbps ขณะที่รถวิ่ง และ 30-40 Mbps ในจุดจอดรถเพื่อส่งข้อมูลไปวินิจฉัย”


​เนื่องจาก MSU เป็นรถที่มีขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถวิ่งไปตามตรอก หรือซอยที่มีขนาดเล็กได้ ทำให้ต้องมีการกำหนดเส้นทาง หรือจุดวิ่งที่ชัดเจน และใช้การประสานงานร่วมกับหน่วยอาสาสมัครสาธารณภัยในแต่ละพื้นที่ช่วยนำส่งคนไข้ไปยังจุดนัดพบต่างๆ เพื่อรับผู้ป่วยขึ้น MSU ก่อนวิ่งไปยังจุดจอดตามที่กำหนดเพื่อทำการวินิจฉัย ทำให้สามารถทำงานร่วมกับโอเปอเรเตอร์ในการปรับเครือข่าย 5G ให้รองรับการใช้งานได้มีเสถียรภาพมากที่สุด

​ทำให้ปัจจุบัน MSU ได้กลายเป็นรถต้นแบบที่คนไทยคิด คนไทยพัฒนา ที่กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับมาตรฐานตั้งแต่เรื่องความปลอดภัย มาตรฐานทางยานยนต์ สมรรถนะของตัวรถ รวมถึงความปลอดภัยด้านรังสีจากเครื่องเอกซเรย์ด้วย

​นอกจากนี้ เมื่อทำงานร่วมกับเครือข่าย 5G ที่ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว จึงกลายเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนถึงการนำ 5G เข้ามาช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุข และในอนาคตเอไอเอส อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบในการนำ 5G ไปใช้งานทางการแพทย์ในเรื่องของการรักษาทางไกลอย่างการควบคุมหุ่นยนต์ผ่าตัดด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น