xs
xsm
sm
md
lg

คณบดีศิริราช ผนึกกำลัง สธ. ระดมสมอง หาโอกาสในช่วงวิกฤต มองโรครอบด้าน สร้างระบบวิธีสู้ภัยคุกคามปัจจุบันถึงอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณบดีศิริราช ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ระดมสมอง หาโอกาสในช่วงวิกฤติ มองโรครอบด้าน สร้างระบบวิธีสู้ภัยคุกคามปัจจุบันถึงอนาคต ระบุหากย่ำอยู่กับที่ไม่มีทางชนะสงครามจุลชีพ แม้แต่โรคเอ็นซีดียังซับซ้อนขึ้น ด้าน สรพ.ถอดบทเรียนสถานการณ์ปรับเกณฑ์ HA สร้างความปลอดภัยให้คนไข้

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ห้องแกรนด์ไดมอน บอลรูม ศูนย์การประชุมเมืองทองธานี ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงเรื่อง “3P Safety for Resilience in Healthcare” ในการประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ครั้งที่ 22 ว่า เรื่องการระบาดของโรคโควิด -19 ในขณะนี้ เรากำลังเข้าสู่ปลายทางการระบาด โดยสายพันธุ์ที่ระบาดขณะนี้คือสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งดูเหมือนน่ากลัวเพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อกำลังวิ่งขึ้น แต่สุดท้ายเราจะไปสู่กระบวนการเลิกตรวจหาเชื้อ ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศเลิกตรวจแล้ว เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ก่อโรคไม่รุนแรง ดังนั้นเมื่อโรคไม่รุนแรง เมื่อมีการติดเชื้อ 2 สัปดาห์ก็จะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเอง บวกกับการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น จึงเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่เชื้อฯ จะจัดการตัวเองแล้วโรคก็ค่อยๆ สงบลง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะพูดในวันนี้คือ เรื่องการสร้างความปลอดภัยในภาวะวิกฤติ ไม่เฉพาะวิกฤติการระบาดของโควิด -19 เท่านั้น แต่หมายถึงทุกวิกฤติที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าในทุกวิกฤติที่เกิดขึ้นล้วนมีโอกาสเกิดความสำเร็จ หรือล้มเหลว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งด้านดีและด้านลบ ดังนั้นจึงอยู่ที่กระบวนการความคิดของผู้เกี่ยวข้อง ต้องวิเคราะห์วิกฤตินั้นอย่างลึกซึ้ง รอบด้านครอบคลุมทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยมองไปถึงปัญหาหรือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วกำหนดยุทธวิธี หรือหาคำตอบในการแก้ไขปัญหาที่มากกว่าสิ่งที่ทำอยู่ปกติ โดยคุยกับคนไข้ หารือร่วมกันของบุคลากร และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมด้วย เพื่อให้มีความพร้อมรับมือกับวิกฤติและสร้างความปลอดภัย ไม่ให้โรคต่างๆในสถานพยาบาลสร้างผลกระทบกับสังคมภายนอก ดังนั้น อยากจะชวน สรพ. หรือกระทรวงสาธารณสุขทบทวนเรื่องเหล่านี้

“เมื่อพ้นการระบาดเข้าสู่ภาวะปกติแล้วหรืออยู่ในระยะฟื้นตัวจะต้องดีกว่าเดิม หากฟื้นตัวแล้วยังอยู่แบบเดิม เมื่อเจอวิกฤติครั้งใหม่ก็จะแย่อีก อย่าอิงกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะโรคมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การแข่งขันของคนกับจุลชีพ จุลชีพไม่มีทางกลับมาเหมือนดิม แม้กระทั่ง NCDs ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลง มีความซับซ้อนขึ้น ไหนๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยเฉพาะระบบสุขภาพ หากเปลี่ยนแปลงฟื้นตัวก็ต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม”ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ด้าน พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล กล่าวว่า ที่ผ่านมาสรพ.ได้พัฒนาเกณฑ์การตรวจมาตรฐานสถานพยาบาล (HA) มาแล้วหลายฉบับ ซึ่งเกณฑ์เหล่านั้นได้รับรองมาตรฐานจากหน่วยงานสากล โดยเกณฑ์ HA ฉบับล่าสุดที่ทำเมื่อปี 2563 ก็ได้รับการรับรอง International Society for Quality in Healthcare External Evaluation Association หรือ ISQua EEA ซึ่งกำหนดว่าจะต้องมี 3 เรื่อง คือความปลอดภัยของผู้ป่วย การพัฒนาระบบบริการสุขภาพโดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง และรพ.มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ HA จะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ด้านสุขภาพปัจจุบัน โดยในช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 เราได้มีการรับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วนทั้งสถานพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงผู้ป่วยและญาติ บุคลากร แล้วนำมาพิจารณาปรับปรุงให้สอดคล้อง 4 เรื่อง 1. สอดคล้องกฎหมาย 2.สืบสานหลักคิดของการพัฒนาคุณภาพของ HA 3.มาตรฐานสากล หรือ ISQua EEA และ 4.แนวทางทิศทางพัฒนาประเทศในอนาคต ทั้งนี้ เสน่ห์ HA ไทยคือการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

ผอ.สรพ. กล่าวว่า เบื้องต้นมีการปรับปรุงในหลายๆ เรื่อง อาทิ การให้ความสำคัญในการดูแลทุกคนที่มาสถานพยาบาลทั้งคนไข้ ญาติ และคนอื่นในพื้นที่ ตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อม เพราะโควิดทำให้เห็นว่าทุกคนล้วนมีความเสี่ยงในการติดเชื้อทั้งสิ้น การจัดระบบบริการที่คิดถึงกลุ่มคนหลากหลาย คนเปราะบาง คนหลากหลายทางเพศ และที่มาแรงคือการจัดระบบการแพทย์ทางไกล การดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ต้องมีและกระบวนสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ป่วยได้รับการบริการจริง มีคุณภาพและความปลอดภัย เรื่องการประสานส่งต่อ การจัดให้มีระบบการรับเรื่องร้องเรียน และกำหนดระยะเวลาแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนอย่างชัดเจน โดยควรมีความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย รวมถึงผู้ป่วยและญาติมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งนี้ จะต้องมีเกณฑ์ข้อกำหนดสำหรับผู้บริหารต้องสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริง มีการสื่อสารที่ดี และมีผู้เชี่ยวชาญคอยติดตามประเมินผลปฏิบัติงานสม่ำเสมอ ตลอดจนเรื่องของการจัดการเรียนการสอนทางคลินิกให้มีความรู้ มีความปลอดภัย ให้ความสำคัญบุคลากร ที่คำนึงถึงความเพียงพอ สวัสดดิภาพ ความปลอดภัยและการเป็นอยู่อย่างมีความสุขโดยสร้างวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร






กำลังโหลดความคิดเห็น