xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมถกรับนายกฯเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์สนามบินเบตง เร่งติดตามงบ 65 ให้ตามเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.คมนาคม ประชุมเตรียมพร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็น ปธ.พิธีเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ท่าอากาศยานเบตง 14 มี.ค. พร้อมเร่งติดตามการเบิกจ่ายงบ 65 ร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดคมนาคม ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

วันนี้ (10 มี.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ประชุมเตรียมความพร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรีในพิธีเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา ในวันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2565 ผ่านระบบ Zoom Could Meeting

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรมท่าอากาศยาน (ทย.) กระทรวงคมนาคม พร้อมเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายให้หน่วยงานดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการคมนาคม ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการส่งเสริมการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการเดินทางได้หลายรูปแบบ ด้วยการดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา เพื่อแก้ไขปัญหาการเดินทางสู่อำเภอเบตงที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ไม่สะดวกต่อการเดินทางให้สามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ ท่าอากาศยานเบตงได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ซึ่งมีความพร้อมให้บริการตามมาตรฐาน โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดเที่ยวบินพาณิชย์ปฐมฤกษ์ท่าอากาศยานเบตง พร้อมเดินทางไปกับเที่ยวบินปฐมฤกษ์ดังกล่าว ในวันที่ 14 มีนาคม 2565

ท่าอากาศยานเบตง เป็นท่าอากาศยานแห่งที่ 29 ของ ทย. ตั้งอยู่ในตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา บนพื้นที่ 920 ไร่ ประกอบด้วย ทางขับ จำนวน 2 วิ่ง ทางวิ่ง กว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร ลานจอดเครื่องบินรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง จำนวน 3 ลำ อาคารที่พักผู้โดยสารมีพื้นที่ใช้สอยขนาด 7,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง หรือ 800,000 คนต่อปี และลานจอดรถยนต์ จำนวน 140 คัน จะเริ่มให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แรก โดยสายการบินนกแอร์ เส้นทางกรุงเทพฯ-เบตง-กรุงเทพฯ ในวันที่ 14 มีนาคม 2565 และให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (วันจันทร์ วันพุธ และ วันศุกร์) โดยดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามประกาศของ กพท. และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ ซึ่งนอกจากเส้นทางให้บริการภายในประเทศแล้ว ท่าอากาศยานเบตงยังมีความพร้อมที่จะมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Regional Hub) เส้นทางระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ในอนาคตด้วย
.
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบให้ ทย. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาเส้นทางการบินสู่ท่าอากาศยานเบตงเพิ่มเติม เช่น สุวรรณภูมิ-เบตง รวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ของแผนพัฒนาท่าอากาศยานเบตง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่ในระยะต่อไปในอนาคต โดยให้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประเด็นด้านความมั่นคง ความคุ้มค่า และผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับ

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ยังได้ประชุมเร่งรัดติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2565 ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงคมนาคม รองปลัดกระทรวงคมนาคม และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เข้าร่วมการประชุม

การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมติดตามการดำเนินงาน การลงนามในสัญญา เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2565 ของหน่วยงานในสังกัดให้สามารถเบิกจ่ายเงินได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีผลการเบิกจ่าย ดังนี้

กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปี 2565 (8 ส่วนราชการ 5 รัฐวิสาหกิจ) ในภาพรวม จำนวน 208,455.23 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 26,076.73 ล้านบาท (ร้อยละ 12.51) และรายจ่ายลงทุน 182,378.50 ล้านบาท (ร้อยละ 87.49) โดยในส่วนของงบรายจ่ายลงทุน ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2565 มีการเบิกจ่ายเงินแล้ว 44,417.14 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 24.35 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร) เมื่อเปรียบเทียบกับผลการเบิกจ่ายเงิน ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2564 สามารถเบิกจ่ายเงินได้มากขึ้น 15,957.58 ล้านบาท (ร้อยละ 9.25)

สำหรับการลงนามในสัญญารายจ่ายลงทุน กระทรวงคมนาคมมีรายการที่จะต้องลงนามในสัญญา จำนวน 7,750 รายการ วงเงิน 80,722.76 ล้านบาท (รายการรายจ่ายลงทุนปีเดียว, รายการลงทุนผูกพันรายการใหม่ และรายการรายจ่ายลงทุนที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท) ซึ่ง ณ สิ้นเดือน กุมภาพันธ์ 2565 ลงนามในสัญญาแล้ว 7,413 รายการ วงเงิน 74,573.39 ล้านบาท (ร้อยละ 92.38 ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร) และส่วนที่เหลือจะทยอย การลงนามในสัญญาภายในเดือนมีนาคม และเดือนเมษายน 2565 ให้ครบทุกรายการ จะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของกระทรวงคมนาคมในแต่ละเดือนเพิ่มสูงขึ้น

งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ปี 2565 (10 รัฐวิสาหกิจ) วงเงินรวม 117,530.39 ล้านบาท มีแผนการเบิกจ่ายเงิน (1 ตุลาคม 2564 - 28 กุมภาพันธ์ 2565) จำนวน 20,785.12 ล้านบาท ซึ่ง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เบิกจ่ายเงินแล้ว 16,512.11 ล้านบาท (ร้อยละ 79.44 ของแผนเบิกจ่ายสะสม) โดยรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่สามารถเบิกจ่ายเงินได้ตามแผน ที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำชับให้หน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล และมีนโยบายให้นำผลการเบิกจ่ายงบประมาณมาเป็นตัวชี้วัดในการประเมินผลการปฏิบัติงานด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น