โครงการปรับปรุงและพัฒนาการประมง (Fishery Improvement Project: FIP) จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ทุกภูมิภาคทำประมงอย่างรับผิดชอบตามมาตรฐานสากลและสร้างสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล ภาคประชาสังคม โรงงานปลาป่น ชาวประมง ไปจนถึงผู้ผลิตอาหารทะเล ในการพัฒนาอุตสาหกรรมประมง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ผลิตและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของเวียดนามเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก โดยโครงการปรับปรุงการประมงอวนลากสำหรับสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ในเขตบ่าเรียะ-หวุงเต่า ถือเป็นโครงการที่ 2 ต่อจากโครงการปรับปรุงและพัฒนาการประมงอวนลากในอ่าวไทย ที่ได้รับอนุมัติเข้าสู่โครงการ MarinTrust Improver Program (IP) ภายใต้มาตรฐานการตรวจประเมินสำหรับการประมงสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ (Multispecies) และเป็นส่วนหนึ่งของ Multi-species pilot project เพื่อเป็นแนวทางในการทำประมงสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของการประมงเวียดนาม
นายมนตรี สุวรรณโพธิ์ศรี กรรมการผู้จัดการ ซี.พี.เวียดนาม กล่าวว่า บริษัทฯ มีนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อห่วงโซ่ผลิตกุ้งที่รับผิดชอบบนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร รักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม โดยเดินหน้าขับเคลื่อนการจัดหาวัตถุดิบปลาป่น สำหรับการผลิตอาหารสัตว์น้ำ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ยืนยันถึงแหล่งที่มาถูกกฎหมาย การประมงที่ยั่งยืน ตามมาตรฐาน Best Aquaculture Practice (BAP) และหลักสากล
ซี.พี.เวียดนาม ได้นำความรู้และประสบการณ์จากการดำเนินโครงการพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืนของธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ ในประเทศไทยที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของ MarinTrust มาต่อยอดใช้กับโครงการในเขตบ่าเรียะ-หวุงเต่า เพื่อส่งเสริมการทำประมงตามหลักสากล ควบคู่กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมประมงในประเทศเวียดนาม โดยได้จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือของผู้ผลิตอาหารและผู้ผลิตปลาป่นและน้ำมันปลาจังหวัดบ่าเรียะ-หวุงเต่า (Vung Tau Round Table of Fishmeal Producers and Feed Manufacturers, VRFF) ซึ่งมีตัวแทนเข้าร่วมจากทุกภาคส่วน เช่น กรมประมงจังหวัด NGO โรงงานปลาป่น โรงงานอาหารสัตว์ ที่ปรึกษาระบบมาตรฐาน เพื่อรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประมงประเทศเวียดนาม และนำมาประเมินเพื่อปรับปรุงและจัดทำแผนงาน เพื่อยกระดับการประมงในประเทศเวียดนามให้สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืนในระดับสากล เช่น MarinTrust
นายมนตรีกล่าวเสริมว่า บริษัทฯ ยังเดินหน้าสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับกรมประมง ประเทศเวียดนาม โรงงานปลาป่น และเรือประมง เพื่อช่วยกันหาแนวทางยกระดับการทำประมงในมิติต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตั้งแต่พัฒนาการจัดการข้อมูล บันทึกปริมาณการจับปลา ชนิดปลา เครื่องมือและอุปกรณ์จับปลา
ในปีนี้ บริษัทฯ มีแผนจะติดตามการทำงาน ของโครงการ FIP บ่าเรียะ-หวุงเต่า ให้เป็นไปตามแผนงาน (Action Plan) และสนับสนุนการพัฒนาโรงงานผลิตปลาป่นที่เข้าร่วมโครงการ FIP สามารถผ่านการประเมินตามมาตรฐาน MarinTrust อย่างน้อย 2-3 โรงงาน สอดคล้องกับนโยบายและแผนงานการจัดหาวัตถุดิบปลาป่นอย่างยั่งยืน ที่ตั้งเป้าหมายจัดหาวัตถุดิบปลาป่นจากแหล่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ครบ 100%