คมนาคม-รฟท. วางAction Plan สู้คดี"โฮปเวลล์"ใหม่ หลังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เตรียมทำหนังสือถึงอัยการ มอบอำนาจดำเนินการแทน ภายใน 18 มี.ค.65 และให้"พีระพันธุ์" เป็นผู้ประสานงาน
วันที่ 11 มีนาคม 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายนิรุฒ มณีพันธุ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะทำงานซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ เข้าร่วมประชุมคณะทํางานศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อดําเนินการแก้ไขปัญหาและความเสียหายของรัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตใน โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (คดีโฮปเวลล์)
โดยมีการพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินงานภายหลังศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่
81-83/2565 ฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 กลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไว้พิจารณา และให้ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณางดการบังคับคดีที่บังคับให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งฯ ชำระเงินสองหมื่นกว่าล้านบาทให้แก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นสัญญาณในทางที่ดีต่อภาครัฐในการขอพิจารณาคดีใหม่
โดยในการประชุมมีการหารือถึง Action Plan ที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ต้องดำเนินการภายในกรอบระยะเวลาของกฎหมายที่กำหนดไว้ในการฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งความสำเร็จของการยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ในครั้งนี้มีนายพีระพันธุ์ สารีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าทีมในการสืบค้นพยานหลักฐานต่าง ๆ และข้อพิรุธ รวมถึงได้รับการสนับสนุนที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของภาครัฐจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
การหารือร่วมกันครั้งนี้ เป็นนิมิตหมายอันดีที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีโอกาสต่อสู้โดยคดีจาก พยาน หลักฐานและข้อพิรุธต่าง ๆ และได้การสนับสนุนจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นอย่างดีในการต่อสู้คดีไปด้วยกัน
โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วได้ข้อยุติว่า กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย จะมีหนังสือถึงอัยการสูงสุด เพื่อขอความอนุเคราะห์แต่งตั้งพนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการในคดีแทนกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ โดยมีผู้แทนกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ รวมถึงมีมติให้ นายพีระพันธุ์ สารีรัฐวิภาค เป็นผู้ประสานงานคดีนี้โดยคณะจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 18 มีนาคม 2565 ซึ่งพนักงานอัยการก็ได้รับทราบและยินดีรับข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ