xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านสองคลอง ฉะเชิงเทรา โวยคำสั่งกรมประมงห้ามส่งออกลูกปลากะพงขาวกระทบทำกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - ชาวสองคลอง จ.ฉะเชิงเทรากว่า 300 คน รวมตัวโวยคำสั่งกรมประมง ห้ามส่งออกลูกปลากะพงขาวไปมาเลเซีย อ้างได้รับร้องเรียนเรื่องการใช้ใบ สอ.3 ผิดประเภท ทำกระทบทำกินทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้เลี้ยง และผู้ทำธุรกิจต่อเนื่อง  

วันนี้ (26 ก.พ.) กลุ่มชาวบ้านผู้เพาะเลี้ยงลูกปลากะพงขาวใน ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา จำนวนกว่า 300 คน ได้รวมตัวกันที่ศาลาประชาคมกลางหมู่บ้าน ภายในซอยจันทร์เกษม ในพื้นที่ ม.6 ต.สองคลอง หลังได้รับผลกระทบจากคำสั่งของกรมประมง

พร้อมร่วมกันเสนอปัญหาต่อ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง ที่เดินทางลงพื้นที่เพื่อร่วมรับฟังความเดือดร้อนจากชาวบ้านด้วยตนเอง


นายพิชัย รวงผึ้ง อายุ 36 ปี ชาวบ้าน ต.สองคลอง บอกว่า ตนเองและครอบครัวประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงลูกปลากะพงขาวมานานกว่า 40 ปี และที่ผ่านมาได้ส่งออกไปประเทศมาเลเซีย จนสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว แต่กรณีที่มีสมาคมแห่งหนึ่งได้ยื่นหนังสือถึงกรมประมง กล่าวหาว่าชาวบ้านใช้ใบ สอ.3 (คู่มือสำหรับประชาชน การขึ้นทะเบียนและต่ออายุทะเบียนสถานประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก) ผิดประเภท

และยังอ้างว่าใบ สอ.3 ดังกล่าวเป็นใบอนุญาตสำหรับผู้เพาะเลี้ยงลูกพันธุ์ปลากะพงในบ่อปูนซีเมนต์ ขนาด 1.5 นิ้วเท่านั้น

“แต่พันธุ์ปลากะพงที่ชาวบ้านส่งออกต้องนำไปชำในบ่อดินเพื่อให้ได้ไซส์ขนาด 3-4 นิ้วตามที่คู่ค้าในมาเลเซียต้องการ จึงทำให้ทางสมาคมใช้เป็นข้ออ้างในการยื่นเรื่องเพื่อสกัดการส่งออกของชาวบ้านในพื้นที่เนื่องจากการสูญเสียผลประโยชน์ เพราะหากชาวบ้านส่งออกได้จะทำให้ราคาพันธุ์ปลากะพงในประเทศมีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้เลี้ยงปลากะพงเนื้อรายใหญ่ต้องซื้อลูกปลาในราคาที่สูงตาม”


นายพิชัย ยังบอกอีกว่า หลังกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงลูกปลากะพงขาวถูกสั่งระงับการส่งออก ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากปลากะพงกว่า 20-30 ล้านตัวที่กำลังเติบโตในบ่อดินจนได้ขนาดตามที่คู่ค้าในมาเลเซียต้องการไม่สามารถส่งขายได้ อีกทั้งเมื่อปลาโตมีขนาดใหญ่จะทำให้เกิดความแออัดในบ่อเลี้ยง สุดท้ายจะทำให้ปลาตาย

“นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพนี้ และอาชีพเชื่อมโยง ทั้งผู้เพาะพันธุ์ปลาเล็กที่ขายให้เกษตรกรคนจับปลา คัดไซส์ปลา คนนับปลา รวมทั้งผู้รับจ้างขนส่ง รถบรรทุกน้ำ และบ่อดินต่างได้รับผลกระทบทั้งหมด ที่สำคัญในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ของทุกปีถือเป็นช่วงที่ชาวบ้านจะขายลูกพันธุ์ปลาได้ราคาดี เนื่องจากมาเลเซียต้องการนำเข้าพันธุ์ปลาในช่วงนี้”

วันนี้ชาวบ้านได้เรียกร้องให้กรมประมงชี้แจงเรื่องข้ออ้างเกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าวว่าเป็นไปตามมาตรการตรวจหาสารตกค้างในปลา ว่าสุดท้ายแล้วจำเป็นจะต้องตรวจหาเชื้อในลูกปลาที่ยังต้องถูกนำไปเลี้ยงต่ออีกนานหลายเดือนเพื่อประโยชน์อันใด


นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง ยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในครั้งนี้เกิดจากมีผู้ส่งหนังสือร้องขอให้กรมประมง ดำเนินการตามระเบียบและขอให้ตรวจสอบการส่งออกพันธุ์ปลาว่าเป็นไปตามใบที่แจ้งไว้หรือไม่ จนทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากตามใบแจ้งของเกษตรกร เป็นการส่งออกปลาขนาด 1.5 นิ้ว แต่การส่งออกจริงกลับเป็นปลาขนาด 3-4 นิ้ว 

"และเป็นสิ่งที่ชาวบ้านกระทำในลักษณะนี้มายาวนานแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้มีการเข้มงวดในข้อระเบียบดังกล่าว ในวันนี้จึงต้องเร่งหาแนวทางผ่อนคลายเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถระบายปลาที่มีอยู่ได้" 

เบื้องต้น จะเร่งผลักดันให้เกษตรกรผู้เลี้ยงลูกปลาต้องปฏิบัติตามมาตรฐานฟาร์มที่กำหนด ขณะที่ประมงจังหวัด และประมงอำเภอ จะต้องเร่งเช็กสต๊อกลูกปลาของเกษตรกรว่ามีจำนวนเท่าใดก่อนจะวางแผนในการส่งออกเพื่อที่จะได้ออกใบรับรองโรค ก่อนหาแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งในระยะชั่วคราว และระยะยาวต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น