xs
xsm
sm
md
lg

GULF จ่อเซ็น PPA 2 โรงไฟฟ้าพลังน้ำใน พ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



GULF จ่อเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับกฟผ.โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง 912 เมกะวัตต์และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากลาย 770 เมกะวัตต์ราวเดือนพฤษภาคมนี้

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตขึ้นอีก 1,500 เมกะวัตต์ จากปริมาณกำลังผลิตเดิม 9,000 เมกะวัตต์ รวมปริมาณกำลังผลิตเป็น 10,500 เมกะวัตต์ เพื่อขายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทย โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้านั้น ทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบให้รับซื้อไฟฟ้าจาก 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 3,622 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟผ.ได้ในเดือนพฤษภาคม 2565

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่รับซื้อเพิ่ม 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ขนาดกำลังการผลิต 1,460 เมกะวัตต์ โดย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เป็นผู้พัฒนาโครงการ และดำเนินกิจการ ได้อัตราค่าไฟฟ้า 2.8432 บาทต่อหน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือนมกราคม 2573 โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง (Pak Beng) เป็นเขื่อนประเภทน้ำไหลผ่าน ไม่มีอ่างเก็บน้ำ ขนาดกำลังการผลิต 912 เมกะวัตต์ ของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เป็นผู้พัฒนาโครงการ และดำเนินกิจการ อัตราค่าไฟฟ้า 2.9179 บาทต่อหน่วย กำหนด COD เดือนมกราคม 2576

ส่วนอีก 2 โครงการ คือ โครงการน้ำงึม 3 ขนาดกำลังการผลิต 480 เมกะวัตต์ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้พัฒนาโครงการ และดำเนินกิจการ ได้รับอัตราค่าไฟฟ้า 2.8934 บาทต่อหน่วย กำหนด COD เดือนมกราคม 2569 และโครงการปากลาย (Pak Lay) ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 770 เมกะวัตต์ โดยมีบริษัท GULF เป็นผู้พัฒนาโครงการ และดำเนินกิจการ ได้อัตราค่าไฟฟ้า 2.9426 เมกะวัตต์ กำหนด COD เดือนมกราคม 2575


ก่อนหน้านี้ บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว 3-5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 1,000-1,500 เมกะวัตต์ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 30,000 กว่าล้านบาทใน 10 ปีข้างหน้า

โดย GULF วางเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 30% ในปี 2573 จากปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 8-9% เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นงบลงทุนบริษัท 5 ปีนี้ (2565-2569) กำหนดไว้ที่ 100,000 ล้านบาท ถูกจัดสรรไปใช้ในพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 75% ของงบลงทุนหรือราว 75,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะกระจายการลงทุนธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน 10,000 ล้านบาท ธุรกิจดิจิทัล 5,000 ล้านบาท ธุรกิจไฟฟ้าและก๊าซฯ 10,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น