สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อส่งผลต่อราคาพลังงานไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติดาหน้าดีดตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อสหรัฐฯ และยุโรปสั่งห้ามการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่รัสเซียตอบโต้โดยการไขก๊อกปิดการส่งก๊าซธรรมชาติสู่ยุโรป ผ่านท่อยามาล-ยุโรป อย่างไม่มีกำหนด ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 ที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 125.30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขึ้นมาทันที 16.31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 4.8 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แนวโน้มราคาพลังงานที่จะปรับตัวลงมาในระยะเวลาอันใกล้แทบมองไม่เห็นหากสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนยังไม่คลี่คลาย
หากมองภายในประเทศไทยพบว่าราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบถ้วนหน้าต่อการดำเนินภาคธุรกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ภาครัฐต้องเร่งหาเงินและมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยพยุงราคาพลังงานในประเทศไม่ให้ปรับตัวขึ้นแรงและเร็วจนเกินไป แต่ก็ไม่สามารถแบกรับได้มากกว่านี้ เพราะราคาพลังงานได้ขึ้นต่อเนื่องจนต้องเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันประหยัดการใช้ลง ส่วนภาคการผลิตไฟฟ้าของไทยที่ส่วนใหญ่พึ่งพาก๊าซฯ เป็นหลักถึง 54% ของกำลังการผลิตไฟฟ้า ก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นไม่มากก็น้อยแม้ว่าภายหลังรัฐมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทำให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น
บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) หรือเอ็กโก กรุ๊ป บริษัทลูกที่ กฟผ.ถือหุ้นอยู่ 25.41% นั้น เป็นหนึ่งในบริษัทไฟฟ้าที่เกือบไม่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รองรับ ทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นถูกส่งผ่านไปยังค่าพลังงานไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าในต่างประเทศก็มีการขายในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า (Power Pool) รวมแล้ว 98% ของกำลังการผลิต คงมีเพียงแค่ 2% หรือราว 92 เมกะวัตต์เท่านั้นที่เป็นการขายไฟฟ้าให้ภาคอุตสาหกรรม (IU) ทำให้ได้รับผลกระทบจากค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นไม่มาก แต่เมื่อรัฐปรับขึ้นค่า Ft ก็จะช่วยลดผลกระทบดังกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นด้วย จากปัจจุบันมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,364 เมกะวัตต์ รวมทั้งศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน (Hidrogen to Power) เพื่อปูทางสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 และเป้าหมายลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emission Intensity) 10% ภายในปี 2573
EGCO นำร่องผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจนในไทย
เอ็กโก กรุ๊ปย้ำว่าในเร็วๆ นี้จะนำร่องการผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจนด้วยเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงชนิดออกไซด์แบบแข็ง (SOFC) และเทคโนโลยีแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (SOEC) ในไทย เบื้องต้นจะมีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าไม่มาก เนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายการผลิตยังสูงอยู่ก็ตาม ขณะนี้บริษัทได้เจรจากับลูกค้าอุตสาหกรรมแล้ว 2-3 รายที่ต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด แต่เชื่อว่าอนาคตอันใกล้ต้นทุนการผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้จะต่ำลงและถูกนำมาใช้เป็นพลังงานทางเลือกใหม่ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศไทย
ทั้งนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ได้ร่วมกับพันธมิตรคือ Bloom Energy , ATE และ กฟผ.ศึกษาและพัฒนาการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจน ด้วยเทคโนโลยี SOFC และ SOEC เมื่อปลายปี 2564 ซึ่งจุดเด่นของเทคโนโลยีดังกล่าวมีหลายประการไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งที่ง่ายและยืดหยุ่น การผลิตไฟฟ้าที่สม่ำเสมอและเชื่อถือได้ รวมทั้งมีการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศและน้ำที่ต่ำมากจนเกือบจะเป็นศูนย์ จึงเป็นการปิดจุดอ่อนของการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิมและพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันมีหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้แล้ว คิดเป็นกำลังผลิตราว 600 เมกะวัตต์
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า งบลงทุนในปี2565 บริษัทฯ ตั้งไว้ที่ 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนา 8,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ลักษณะการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) ประมาณ 22,000 ล้านบาท โดยวางเป้าหมายว่าปีนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์จากปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 5,959 เมกะวัตต์ใน 8 ประเทศทั่วโลกที่เอ็กโก กรุ๊ปขยายฐานไป ซึ่งกำลังการผลิตใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาในปีนี้มีทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ และพลังงานหมุนเวียน ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาหลายโครงการ ซึ่งจะปิดดีลได้ตามเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้
นอกเหนือจากธุรกิจไฟฟ้าแล้ว บริษัทยังมุ่งขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ธุรกิจเชื้อเพลิงและสาธารณูปโภค รวมทั้งการต่อยอดธุรกิจหลักด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานในรูปแบบ Smart Energy Solution โดยลงทุนในบริษัทเพียร์ เพาเวอร์ (Peer Power) ที่ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิ้ง ซึ่งเอ็กโก กรุ๊ปมองโอกาสต่อยอดเทคโนโลยีบล็อกเชนและพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงาน (Energy Trading Platform) และบริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับ กฟผ.และบมจ.ราช กรุ๊ป ตั้งบริษัทอินโนพาวเวอร์ เพื่อลงทุนด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม
ผลประกอบการในปี 2565 บริษัทคาดว่าจะมีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 10,218 ล้านบาท มาจากการรับรู้รายได้การดำเนินงานเต็มปีจากโรงไฟฟ้าลินเดน โคเจน ที่สหรัฐฯ กำลังผลิต 972 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้น 28%) และการลงทุนถือหุ้น 17.46% ในเอเพ็กซ์คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดรายใหญ่สุดในสหรัฐฯ ที่มีโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 492 เมกะวัตต์และมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาอีกกว่า 42,000 เมกะวัตต์ รวมทั้งการรับรู้รายได้จาก 3 โครงการใหม่ที่ทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2565 ได้แก่ โครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทดสอบระบบไตรมาส 1/2565, โรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำเทิน 1 ใน สปป.ลาว กำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้น 25%) คาดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์กลางปีนี้ และการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าหยุนหลินในไต้หวัน กำลังผลิต 640 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้น 25%) รวมทั้งปัจจัยบวกจากอัตราค่า Ft ที่ปรับเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้
นายเทพรัตน์กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลในหลายประเทศเริ่มกลับมาให้ความสำคัญโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มมากขึ้น โดยจะฟื้นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน หลังจากราคาเชื้อเพลิงโดยเฉพาะก๊าซฯ และน้ำมันปรับตัวสูง ส่วนราคาถ่านหินแม้ขยับเพิ่มสูงเช่นกันแต่เมื่อเทียบปริมาณสำรองมีมากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น
ดังนั้น บริษัทเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอขอต่ออายุโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี ที่มีกำลังผลิต 1,4000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปี 2575 ส่วนพื้นที่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้อีกราว 1,000 เมกะวัตต์นั้น หากรัฐมีเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมก็พร้อมที่จะเข้าประมูลแข่งขัน
RATCH ทุ่มอีก 2.8 หมื่นล้านขยายฐานธุรกิจไฟฟ้า
ส่วนบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) ที่ กฟผ.ถือหุ้นอยู่ 45% ก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นไม่มาก เนื่องจากโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มีสัญญา PPA ทำให้ส่งผ่านค่าเชื้อเพลิงไปให้ผู้ซื้อไฟฟ้า โดยในปี 2565 ราช กรุ๊ป มีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่อีก 700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการประเภทเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่น้อยกว่า 450 เมกะวัตต์ และโครงการประเภทพลังงานทดแทน ฝไม่น้อยกว่า 250 เมกะวัตต์ ทำให้สิ้นปี 2565 มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนเพิ่มเป็น 9,815.14 เมกะวัตต์ สอดรับเป้าหมายในปี 2568 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 10,000 เมกะวัตต์
นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทฯ วางงบลงทุนไว้ที่ 30,000 ล้านบาทเพื่อใช้ลงทุนขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าราว 28,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการใหม่ 26,500 ล้านบาท และโครงการเดิม 1,500 ล้านบาท ส่วนงบลงทุนในธุรกิจอื่นนอกเหนือธุรกิจไฟฟ้า วงเงิน 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการใหม่ 1,400 ล้านบาท และโครงการเดิม 600 ล้านบาท
โครงการโรงไฟฟ้าที่จะเข้ามาเพิ่มใหม่ในปีนี้ จะมีทั้งที่ทำ M&A อย่างน้อย 5 โครงการ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังลม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตน์และโรงไฟฟ้าพลังงานใต้พิภพ นอกจากนี้ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่เป็น Greenfield โดยบริษัทไม่มีแผน M&A โรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติมอีก หลังจากปีที่แล้วได้เข้าไปซื้อหุ้น 45.515% ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนไพตันที่อินโดนีเซีย ขนาดกำลังผลิต 2,045 เมกะวัตต์
ส่วนผลประกอบการในปี 2565 มั่นใจจะดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เพิ่มขึ้น 2,500-3,000 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าได้ลงทุนและจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 1,376.89 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย กลุ่มโรงไฟฟ้าสหโคเจน กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 124.95 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว ในประเทศอินโดนีเซีย 145.15 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าเน็กส์ซีฟ ราช ระยอง 45.08 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนไพตัน ในประเทศอินโดนีเซีย 930.78 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลมอีโค่วิน ในประเทศเวียดนาม 15.15 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยาย 31.19 เมกะวัตต์ รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน 1
สำหรับธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจไฟฟ้าก็รับรู้รายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองที่จะเริ่มเปิดให้บริการบางส่วนในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ และโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งใน สปป.ลาว จะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4/2565 ส่วนธุรกิจโรงพยาบาลที่ราชกรุ๊ปเข้าไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรสร้างโรงพยาบาลใน สปป.ลาวและไทยก็จะรับรู้รายได้เต็มปีด้วย
ส่วนบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) บริษัทที่มีผลการดำเนินงานในปี 2564 เติบโตอย่างโดดเด่น หลังโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1 และ 2 จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันบริษัทมีการขยายการลงทุนนอกเหนือจากธุรกิจไฟฟ้าไปสู่ธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน และธุรกิจดิจิทัล แต่โครงสร้างรายได้หลักในช่วง 3-5 ปีข้างหน้ายังคงมาจากธุรกิจไฟฟ้าราว 80% ซึ่งราคาค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลกระทบราว 14% ซึ่งเป็นสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมโดยตรง แต่โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มีสัญญา PPA จึงไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2565 บริษัทคาดรายได้เติบโตขึ้นราว 60% จากปีก่อน เป็นผลจากโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 3 และ 4 ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 1,325 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในเดือน มี.ค.และ ต.ค. 2565, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมแม่โขงที่ประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบ 128 เมกะวัตต์ภายในไตรมาส 2/2565 นี้ รวมทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ของกลุ่ม GULF1 จะเริ่มทยอยเปิดดำเนินการอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ภายในปีนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 9,422 เมกะวัตต์ในปี 2565
นอกจากนี้ GULF จะเริ่มรับรู้กำไรเต็มปีจากโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1 และหน่วยที่ 2 และโครงการโรงไฟฟ้า DIPWP ระยะที่ 1 ที่ประเทศโอมาน ประกอบกับจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเต็มปีจากการลงทุนใน INTUCH ด้วย ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจา M&A โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหลายโครงการทั้งในไทยและต่างประเทศ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 นี้
นางสาวยุพาพินกล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 30% ในปี 2573 จากปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 8-9% เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นงบลงทุนบริษัท 5 ปีนี้ (2565-2569) กำหนดไว้ที่ 100,000 ล้านบาท ถูกจัดสรรไปใช้ในพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 75% ของงบลงทุนหรือราว 75,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะกระจายการลงทุนธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน 10,000 ล้านบาท ธุรกิจดิจิทัล 5,000 ล้านบาท ธุรกิจไฟฟ้าและก๊าซฯ 10,000 ล้านบาท
ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว 3-5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 1,000-1,500 เมกะวัตต์ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 30,000 กว่าล้านบาทใน 10 ปีข้างหน้า สอดรับกับนโยบายบริษัทที่ให้ความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น GULF จึงไม่มีนโยบายลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่เน้นลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซฯ และพลังงานหมุนเวียนไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมองธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ควบคู่กับพลังงานหมุนเวียน
ส่วนของธุรกิจทางด้านดิจิทัลนั้น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเจรจากับทาง Binance เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อทำศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ในไทยและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 1/2565
นอกจากนี้ บริษัท กัลฟ์ แอลเอ็นจี จำกัด (Gulf LNG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้เป็นผู้จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (Shipper LNG) เพิ่มอีก 5.54 ล้านตันต่อปี รวมกับของเดิมเป็น 6.37 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้า IPP และโรงไฟฟ้า SPP ของเครือบริษัท หากรวมการนำเข้า LNG ป้อนให้โรงไฟฟ้าหินกอง ขนาดกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ที่ GULF ถือหุ้น 49% อีกจำนวน 1.4 ล้านตันต่อปีแล้ว GULF ได้สิทธินำเข้า LNG สูงถึง 7.8 ล้านตันต่อปี แทบไม่ต้องพึ่งพาก๊าซฯ จาก ปตท. โดยสามารถหาก๊าซฯ มาผลิตไฟฟ้าได้เองสอดรับนโยบายการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติของภาครัฐ ขณะที่โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จะมีการถมทะเลเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและท่าเทียบเรือ เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยสร้าง LNG Terminal ขนาด 10.8 ล้านตัน โดยบริษัทจะได้รับผลตอบแทนเป็นค่าบริการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวให้เป็นก๊าซ (LNG Terminal Fee)
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวเลขการนำเข้า LNG เพื่อป้อนให้โรงไฟฟ้า IPP ในเครือ GULF นั้น พบว่ามีการทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับ ปตท.ไปแล้ว มีเพียงโครงการโรงไฟฟ้าหินกองที่ยังไม่ได้ทำสัญญาฯ ดังนั้นหาก GULF ต้องการนำเข้า LNG เพื่อป้อนโรงไฟฟ้า IPP ของตนเอง ก็ต้องมาเจรจากับ ปตท.เพื่อแก้ไขสัญญา ซึ่งเรื่องนี้เชื่อว่าทาง ปตท.คงไม่ยอมเพราะก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ รวมทั้งถ้ายอมได้รายหนึ่ง ย่อมมีรายที่สอง สาม สี่ตามมาในอนาคต งานนี้คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีทางออกในเรื่องนี้อย่างไร