xs
xsm
sm
md
lg

BJC ทุ่ม 1.5หมื่นล.ลุยปีเสือ ผวาสงครามยืดเยื้อต้นทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน360- BJC ปักธงรายได้ปี65 กลับมาโต 2หลัก อัด 15,000 ล้านลุย เดินหน้าขยายสาขาบิ๊กซีต่อเนื่อง มองสงครามรัสเซีย-ยูเครน สะเทือนต้นทุนและกำลังซื้อชะลอตัว ต้องเฝ้าระวังและปรับตัวรับมือ ล่าสุดประกาศรายได้ปี64 ปิดที่ 138,465 ล้านบาท ลดลง 4.3%

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่ม BJC เปิดเผยว่า ภาพรวมกำลังซื้อในปีนี้ ตั้งแต่ม.ค.-ก.พ. ค่อยข้างดี แต่พอมาเดือนมี.ค. เริ่มเห็นการชะลอตัว ส่วนสำคัญมาจากสถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลต่อกำลังซื้อ ซึ่งเรื่องนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และเตรียมแผนรับมือ หากจบเร็วก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจมากนัก แต่หากยืดเยื้อจะมีผลต่อธุรกิจหลายด้าน

“จากสถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครนที่กำลังเกิดขึ้น มีผลต่อกระทบต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่กำลังปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในไตรมาส 1 อาจยังไม่กระทบกับ BJC มากนัก แต่หากยืดเยื้อจะเห็นผลจริงในไตรมาส2 ต้องเฝ้าจับตาดู ทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงจะกระทบกับราคาต้นทุนวัตถุดิบ และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบที่ส่งผลต่อกำลังซื้อ”

โดยในส่วนของ BJC มองว่าจะได้รับผลกระทบใน 2 ส่วนหลัก คือ 1.การใช้พลังงานในการผลิต กับอุตสาหกรรมแก้ว กับโรงงานขวดแก้ว เพราะใช้พลังงานเยอะ กับน้ำมันเตาและก๊าซธรรมชาติ แต่ก๊าซราคาไม่พุ่งมาก หากก๊าซพุ่งตาม ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อลูกค้าเพราะมีการปรับราคาขึ้น และ2. ค่าขนส่ง ทางฝั่งบิ๊กซีเป็นการจ้าง แต่ก็ต้องบริหารให้ดี เรามีรถรถขนส่งอยู่จำนวนมาก อาจจะต้องเปลี่ยนไปเป็นรถไฟฟ้า หากราคาน้ำมันยังพุ่งสูงขึ้น 


ด้านนายธามี บีไรเนน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อย่างไรก็ตามผลประกอบการกลุ่ม BJC ในปี2564 ที่ผ่านมา ปิดที่ 138,465 ล้านบาท ติดลบ 4.3% เนื่องจากผลกระทบด้านลบจากการระบาดใหญ่ของ Covid ต่อการขาย MSC และมีกำไรขั้นต้น 26,017 ล้านบาท -5.3% ขณะที่ยอดขายเฉพาะในไตรมาส4 ทำได้ 37,317 ล้านบาท เพิ่มขึ้น +6.3% จากPSC และ MSC ที่ฟื้นตัว หลังยกเลิกมาตรการโควิด และมีกำไรขั้นต้น 7,258 ล้านบาท


ด้านนางสาวภัครดา นิธิวรรณกุล นักลงทุนสัมพันธ์อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อว่า ช่วงไตรมาส4 ที่ผ่านมาในส่วนของ 1.กลุ่มธุรกิจ Packaging Supply Chain ได้มีโครงการพัฒนา IoT และระบบอัตโนมัติ ติดตั้งโปรแกรมและเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดผลิตภัณฑ์ที่มีข้อบกพร่อง ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และความถูกต้องของข้อมูล เช่น การตรวจสอบขวดแก้วโดยใช้เครื่องตรวจสอบข้อบกพร่อง ระบบการจัดการที่ดีเสร็จสิ้น และการวัดสีออนไลน์

2.กลุ่มธุรกิจ Consumer Supply Chain ผลิตภัณฑ์สบู่นกแก้วยังคงมาแรงอันดับ 1 ในสบู่บิวตี้บาร์, Parrot Liquid ทำสถิติสูงสุดใหม่ 9.5% ในแบรนด์สบู่เหลวความงาม, Dozo เป็นที่ 1 ในข้าวเกรียบข้าวในประเทศไทย, Zilk ยังคงครองอันดับ 1 ในกลุ่มสินค้าขนาดกลาง โดยมีส่วนแบ่งตลาดถึง 63%, KATO เปิดตัว 4 NPD คือ 1 Kato Unicorn และอีก 3 สายพันธุ์ของ Kukuru สตรอเบอร์รี่ ลิ้นจี่ และออริจินัล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในปี2565นี้ กลุ่ม BJC คาดการณ์ว่าปีนี้จะกลับมามีรายได้เติบโต 2 หลัก โดยแผนในปี 2565 นี้พร้อมใช้งบลงทุนกว่า 14,000-15,000 ล้านบาท ขยายธุรกิจค้าปลีก 70% และอีก 30% กับธุรกิจอื่น เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ต เตรียมเปิด2 - 3 สาขา เบื้องต้นเป็นไทย 1 สาขา และกัมพูชา 1 สาขา ส่วนโมเดลซูเปอร์มาร์เก็ต จะเปิด Foodplace 5 สาขา, บิ๊กซี มินิ อีก 150-300 สาขาในประเทศไทย และ 50 สาขาในกัมพูชา และร้านยาเพียว 7 สาขา และสิริฟาร์มา 2 สาขา

นอกจากนี้ในส่วนของ MM Food Service เป็นรูปแบบการค้าส่งรูปแบบใหม่ของเราที่เจาะกลุ่มลูกค้า HoReCa กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ 6,000 SKU ส่วนใหญ่อยู่ในอาหารสดและอาหารแห้ง ปัจจุบันมีร้าน MM Food Service 2 แห่งในกรุงเทพฯ ทั้งสองร้านดัดแปลงมาจากร้านบิ๊กซีมาร์เก็ต ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดร้านใหม่ในช่วงปี 2565 แต่ขณะนี้เรากำลังพัฒนาโมเดลและจะอัปเดตเป้าหมายการขยายในภายหลัง ส่วนร้านโดนใจ เป็น โมเดลความร่วมมือกับ เจ้าของร้านค้าแบบดั้งเดิมได้ปรับปรุงร้านค้าของตนให้ทันสมัยผ่านความร่วมมือกับ BJC ปัจจุบันมีร้านค้า 326 เข้าร่วม.


กำลังโหลดความคิดเห็น